คอลัมน์ DOG EAR
โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org
ปกติผู้เขียนไม่ค่อยอ่านหนังสือ ชีวประวัติ เพราะคนที่เขียนหนังสือประเภทนี้มักจะคุยโวโอ้อวดราวกับเป็นยอดมนุษย์ที่ไม่ เคยทำผิดพลาดใด ๆ ในชีวิต หรือถ้าเคยพลาดก็อวดว่าเรียนรู้บทเรียนได้อย่างรวดเร็วและทำบทเรียนนั้นมา ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพทุกครั้ง ราวกับไม่ใช่คนธรรมดาที่ต้องลองผิดลองถูกเป็นประจำ และความสำเร็จหลายอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะโชคช่วยไม่น้อยไปกว่าความสามารถ
แต่ เมื่อผู้เขียนเห็นชื่อ Peter Buffett บนปกหนังสือเรื่อง Life Is What You Make It ก็อดซื้อมาอ่านไม่ได้ เพราะ Peter Buffett ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากลูกชายคนรองของ Warren Buffett นักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกในความเห็นของผู้เขียน
Peter ไม่ได้เจริญรอยตามพ่อ เขาเดินคนละทางอย่างแน่วแน่และสง่างามบนเส้นทางที่ดูจะสวนทางกับพ่ออย่าง สิ้นเชิง วันนี้ในวัย 52 ปี เขาคือนักแต่งเพลงและนักร้องมือฉมังเจ้าของรางวัลเอ็มมี ผู้เขียนซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะเดาว่า Peter น่าจะเป็นคนเก่งที่ถ่อมตัวและสมถะเหมือนกับคุณพ่อผู้โด่งดังของเขา และอยากรู้ว่าพ่อคนนี้สอนลูกว่าอย่างไร
เมื่ออ่านจบก็ต้องบอกว่า Life Is What You Make It เป็นหนังสือดีและอ่านสนุกที่แสดง "ตัวตน" ของทั้งพ่อและลูกคู่นี้ออกมาได้อย่างอบอุ่นและอัดแน่นไปด้วยแง่คิดดี ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเจริญรอยตามตัวเอง
Peter Buffett เขียนหนังสือด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง เขาบอกว่าเขารู้สึกถึง "พลังของดนตรี" เป็นครั้งแรกตอนที่อายุ 6 หรือ 7 ขวบ วันนั้นเขารู้สึกเศร้า ก็เลยเล่นเพลงเด็กชื่อ "Yankee Doodle" บนเปียโนในบ้าน แต่เปลี่ยนคีย์จากเมเจอร์เป็นไมเนอร์ ทันใดนั้น "เพลงมาร์ชที่มีชีวิตชีวากลับกลายเป็นเพลงไว้อาลัยราวกับเสกคาถา และครอบครัวของผมก็รู้สึกได้ในทันทีว่าผมรู้สึกอย่างไร"
Life Is What You Make It เป็นบทบันทึกชีวิตของ Peter ตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน ประสบการณ์การเป็นลูกของ Warren และ Susan Buffett การค้นพบอาชีพการงานในธุรกิจดนตรี และการมารับผิดชอบมูลนิธิที่บริหารเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างทางเขาสอดแทรกข้อสังเกตมากมายเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความท้าทายที่ต้อง "ทำสถานการณ์ดีให้ออกมาดีที่สุด" หลายครั้งในชีวิต และยอมรับว่าทำผิดพลาดหลายเรื่อง อย่างเช่นการไปซื้อบ้านเกินฐานะในมิลวอกีจนประสบปัญหาในการผ่อน และรู้สึกเสียดายโอกาส
ดี ๆ หลายครั้งในชีวิตที่เขาไม่ฉวยเอาไว้เพราะมัวแต่ลังเลใจจนโอกาสนั้นหลุดลอยไป
แต่ สุดท้าย Peter Buffett ก็ภูมิใจกับสิ่งที่เขาได้ทำ เขาอธิบายว่า "ความทะนงตนของผมถูกบรรเทาด้วยความกตัญญูรู้คุณ ตระหนักสุดใจว่าผมเป็นคนที่โชคดีเพียงใด" เขาบอกว่าถ้าเขาต้องการ พ่อของเขาก็คงช่วยให้เขามีงานทำในภาคการเงินหรือในบริษัทของพ่อคือ Berkshire Hathaway ได้อย่างแน่นอน แต่ "ถ้าผมทำอย่างนั้น พ่อก็จะคาดหวังให้ผม
แสดงให้ท่านเห็นว่า ผมรู้สึกอยากทำงานในสาขานั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่ทำเพราะมันเป็นทางที่ง่ายที่สุด...ถ้าท่านเห็นว่าผมกำลังทำเพราะ เหตุผลข้อหลัง ท่านก็จะไม่ยอมแน่ ๆ เพราะท่านจะมองว่านั่นไม่ใช่การใช้อภิสิทธิ์ แต่เป็นการลดตัวเองลง"
Peter ขยายความว่า ลูกของคนรวยต้องดิ้นรนต่อสู้กับประเด็นนี้เสมอ หลายคนลงเอยด้วยการมีปัญหาทางจิตตลอดชีวิต และพ่อแม่ที่ให้เงินมากเกินไปแต่ให้ความรักน้อยเกินไปทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของลูกเลวร้ายลง เขาอธิบายบ้านตัวเองว่า "ลำดับความสำคัญของคุณพ่อและคุณแม่ของผมนั้นชัดเจนมาก ความหวังที่ท่านทั้งสองตั้งสำหรับผมและพี่น้องคือ อยากให้เราแต่ละคนได้พบเจอกับสิ่งที่เรารัก และทำมันด้วยพลังและความอุตสาหะทั้งหมดที่เรามี เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ใส่ความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปในทุกอย่างที่เราทำ...ถ้าหากผมตัดสินใจว่า ความสุขในชีวิตของผมคือการเก็บขยะ พ่อกับแม่ก็จะไม่ว่าอะไรเลยที่เห็นผมห้อยโหนอยู่หลังรถเก็บขยะทั้งวัน"
หลัง จากเรียนมหาวิทยาลัยได้สามเทอม Peter ได้รับ "เงินมรดก" มูลค่า 90,000 เหรียญจากปู่ของเขา เป็นรายได้จากการขายฟาร์มที่คุณพ่อแปลงเป็นหุ้นของ Berkshire Hathaway ให้ ถ้า Peter เก็บหุ้นเหล่านี้ไว้ วันนี้มันก็จะมีมูลค่าสูงถึง 27 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาขายหุ้นออกไปและเปลี่ยนเงินสดเป็นสิ่งที่เขาต้องการ-ก่อร่างสร้าง อาชีพการงานที่ตอบสนองความรักต่อดนตรีได้ Peter หวนรำลึกถึงความหลังว่า "การมีเงินก้อนนี้เป็นอภิสิทธิ์ เป็นของขวัญที่ผมไม่ได้หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ถ้าผมต้องหาเงินด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ผมจะไม่มีทางเดินบนเส้นทางที่ผมเลือกเดินได้"
Peter หวนรำลึกถึงปฏิกิริยาของ Warren หลังจากที่เขาบอกพ่อว่าอยากทำอะไรในชีวิตนี้-"พ่อของผมนั่งฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสินอะไร ไม่ให้คำแนะนำอะไรชัด ๆ นิสัยท่านเป็นแบบนี้...แล้ววันหนึ่งก่อนเดินออกจากบ้าน ท่านก็หันมาพูดว่า "ลูกรู้ไหม ลูกกับพ่อทำเรื่องเดียวกันนะ ดนตรีคือผืนผ้าใบของลูก Berkshire คือผืนผ้าใบของพ่อ และพ่อก็วาดมันทีละน้อยทุกวัน" นั่นคือประโยคเดียวที่ท่านพูด แต่มันก็เกินพอ มันเป็นคำอนุมัติที่ผมต้องการในตอนนั้น และถึงวันนี้ก็ยังรักคุณพ่อของผม ไม่ว่าท่านจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด ได้เปรียบเทียบสิ่งที่ท่านทำกับสิ่งที่ผมทำ และไม่ได้แค่เปรียบเทียบอย่างเดียว แต่ท่านมองว่าสองสิ่งนี้เท่าเทียมกัน แน่นอนว่าไม่ใช่ในแง่ของศักยภาพที่จะทำเงินหรือผลกระทบต่อโลกภายนอก แต่ในแง่ของความชอบธรรมส่วนบุคคล ความชอบธรรมขั้นพื้นฐาน"
ใครที่ อยากรู้ว่าแง่คิดทางศีลธรรมของ Warren Buffett คืออะไรและส่งผลอะไรบ้างต่องานและทัศนคติของลูก ๆ ของเขา รวมทั้งอยากรู้วิธีคิดของ Warren จะพบกับคำตอบมากมายในหนังสือเล่มนี้ เช่น Peter บอกว่าคุณพ่อของเขาทุ่มเทให้กับการวิเคราะห์ทางการเงินทีละหลายชั่วโมงอย่าง มีสมาธิเต็มเปี่ยม ราวกับพระที่ศึกษาคัมภีร์ทางศาสนา แต่ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ Life Is What You Make It เป็นหนังสือที่ "ต้องอ่าน" โดยเฉพาะสำหรับผู้มีฐานะทุกคนคือ หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบว่าทำไมเงินจึง "เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น" ในมุมมองของนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก และแจกแจงความหมายของ Peter ที่บอกว่า คุณพ่อของเขายึดมั่นในความคิดที่ว่า จะต้องให้เงินลูก ๆ เพียงพอที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะไม่ต้องทำอะไรเลย :D
หมาย เหตุ : ฟังเพลงเพราะ ๆ ของ Peter Buffett ได้จากเว็บไซต์ http://www.peterbuffett.com/ (หน้าพิเศษ D-Life)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์