หากกำลังคิดจะหย่า!! อย่า"โพสต์"อะไรโดยไม่คิด


ใน ยุคที่เทคโนโลยีเอื้อให้ ไม่ว่าอะไรก็ดูรวดเร็ว ทันใจ สะดวกสบายไปหมด แต่การทำอะไรที่ "ไวๆ" นี่แหละ ก็อาจสร้างปัญหา เรื่องน่าปวดหัวตามมาภายหลัง อย่างเช่น การส่งเท็กซ์ ส่งข้อความ หรือโพสต์อะไรลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มี "คำเตือน" จากทนายความในสหรัฐอเมริกาซึ่งเชี่ยวชาญคดีหย่าร้างกว่า 90% ถึงคู่สามีภรรยาที่กำลังจะหย่า และคิดว่า การจากลาของตนต้อง "จบ" ลงไม่ดีแน่ ให้ระมัดระวังเวลาจะ "เท็กซ์ (Text)" หรือโพสต์อะไรลงในทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก หรือในไอโฟน ใน สมาร์ทโฟน ต่างๆ ด้วยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคดีหย่าร้างที่มีการใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็น "หลักฐาน" ในคดีหย่าเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ทางสมาคมทนายความคดีสมรสในอเมริกา ซึ่งมีทนายความเป็นสมาชิกอยู่ราว 1,600 คน และแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ในการจัดทำนิติกรรมเกี่ยวกับข้อตกลงก่อนสมรส, คดีหย่า, คดีแย่งสิทธิเลี้ยงดูบุตร, คดีแบ่งสินสมรส และคดีเกี่ยวกับสิทธิของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งพบว่า มีการใช้หลักฐานจาก บรรดาข้อความ และเฟซบุ๊ก เป็นหลักฐานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ยิ่งในช่วง 2 ปีหลังนี้

เคน อัลท์ชูเลอร์ ประธานสมาคมทนายความฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ...

"เวลา เขียนอีเมล์คุณยังมีเวลาคิด มีโอกาสจะปรับเปลี่ยนเขียนข้อความใหม่ แต่การส่งเท็กซ์ ส่งข้อความมันส่งไปทันที และทนายความอย่างพวกเราก็ได้เห็นหลักฐาน บรรดาข้อความที่ผู้คนส่งกันโดยไม่คิดเยอะมาก"

เคนยังพูดถึงความน่า กลัวของบรรดาข้อความต่างๆ ว่า เปรียบเหมือน "ช่องทางระบายอารมณ์" ที่สามารถย้อนกลับมาเล่นงาน หลอกหลอนคนเราได้ เพราะมันเป็น "หลักฐาน" ที่บันทึกถึงความคิด เจตนา และการกระทำของคนคนนั้น

เคนยังบอกด้วยว่า ถึงแม้ข้อความต่างๆ ในโทรศัพท์จะถูกมองเป็นหลักฐานที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือใช้เป็นหลักฐานในศาลไม่ได้ แต่สำหรับบุคคลที่มีความน่าเชื่อ ข้อความแบบนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาในคดีหย่าร้างได้เช่นกัน

"ผม เคยใช้พวกเท็กซ์ พวกข้อความเป็นหลักฐานในการซักค้าน และผมอยากจะบอกด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมพบว่า มีการใช้ข้อความมากมายเป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ยุคนี้ผู้คนชอบส่งข้อความกันมากขึ้น และส่งข้อความกันแบบไม่คิดไม่ระวัง" เคน อัลท์ชูเลอร์ บอก

และจากข้อมูลของทางสมาคมทนายความฯยังพบว่า ข้อความในโทรศัพท์มือถือถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในคดีหย่ามากที่สุด ตามด้วยข้อความในอีเมล์, หมายเลขโทรศัพท์, รายการบันทึกข้อมูลการโทรศัพท์, จีพีเอส และบันทึกการค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต

ที้งนี้ นายเคนเชื่อว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการใช้ "ข้อความ" เป็นหลักฐานในคดีความมากขึ้น ก็เพราะคนทั่วไปมักคิดว่า การส่งข้อความนั้นปลอดภัย เพราะมันไม่สามารถ "พิมพ์" ออกมาได้

แต่คงลืมคิดไปว่า ถึงจะพิมพ์ออกมาไม่ได้ แต่มันก็มีช่องทางให้สืบค้นได้ภายหลัง




ที่มา คอลัมน์ สรรหา มาเล่า :: มติชนรายวัน