พุทธพจน์ หรือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า, คำพูดของพระพุทธเจ้า จัดเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องอ้างอิงเทียบเคียงว่าคำสอนใดเป็นสัทธรรมแท้ (พุทธพจน์) หรือเป็นสัทธรรมเทียม (สัทธรรมปฏิรูป) เพราะคำสอนที่เป็นสัทธรรมแท้นั้นต้องเป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อกำจัดทุกข์ เพื่อไม่สั่งสมกิเลส เพื่อมักน้อย เพื่อสันโดษ เพื่อสงัดจากหมู่เพื่อความเพียร และเพื่อเลี้ยงง่าย ถ้าตรงกันข้าม พึงรู้ว่าเป็นสัทธรรมเทียม
ข้อ 1.
โจรกับโจร คนคู่เวรกัน พบกันเข้า พึงทำความพินาศและความทุกข์ใดแก่กัน
จิตที่ตั้งไว้ผิด ทำแก่คน เลวร้ายยิ่งกว่านั้น
จิตที่ตั้งไว้ถูกต้อง ทำคนให้ประเสริฐ ประสบผลดี ยิ่งกว่าที่มารดาบิดา
หรือญาติทั้งหลายใด ๆ จะทำให้ได้
ข้อ 2.
ความแปรเปลี่ยนจากของรักของชอบใจทุกอย่าง จะต้องมี
ฉะนั้นจะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ล้วนสลายเป็นธรรมดา
เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ของสิ่งนั้น อย่าเสื่อมคลายไปเลย
ข้อ 3.
ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์
สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์ ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน
อย่าเศร้าโศกเลย ท่านจะเศร้าโศกไปทำไม
ข้อ 4.
ศรัทธาในพระตถาคตของผู้ใดตั้งมั่นอย่างดี ไม่หวั่นไหว
และศีลของผู้ใดงดงาม เป็นที่สรรเสริญที่พอใจของพระอริยเจ้า
ความเลื่อมใสของผู้ใดมีในพระสงฆ์ และความเห็นของผู้ใดตรง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของเขาไม่เปล่าประโยชน์
ข้อ 5.
ทุกข์มีเพราะยึด
ทุกข์ยึดเพราะอยาก
ทุกข์มากเพราะพลอย
ทุกข์น้อยเพราะหยุด
ทุกข์หลุดเพราะปล่อย
ข้อ 6.
คนนั่งนิ่ง เขาก็นินทา คนพูดมาก เขาก็นินทา
แม้แต่คนพูดพอประมาณ เขาก็นินทา
คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก
ข้อ 7.
ภูเขาศิลาแห่งเดียว ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลมฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ก็ไม่หวั่นไหวด้วยการนินทา สรรเสริญ ฉันนั้น
ข้อ 8.
แม้กายจะกระสับกระส่าย ก็อย่าให้จิตกระสับกระส่าย
ข้อ 9.
ภิกษุเกิดมีอาพาธเล็ก ๆ น้อย ๆ เธอ (จึง) มีความคิดอย่างนี้ว่า
เรามีอาพาธเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว มีทางเป็นไปได้ที่อาพาธของเรา
อาจหนักเพิ่มขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด
ข้อ 10.
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด
ข้อ 11.
จะมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตาย ก็ไม่เศร้าสร้อย
ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็หาโศกเศร้าไม่
ข้อ 12.
ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทำไว้ ณ ที่ไหน ๆ เลย เพราะฉะนั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง
ข้อ 13.
คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ข้อ 14.
ผู้ใดทำการโดยรู้ประมาณ ทราบชัดถึงกำลังของตน แล้วคิดการเตรียมไว้รอบคอบ
ทั้งโดยแบบแผนทางตำรา โดยการปรึกษาหารือ และโดยถ้อยคำที่ใช้พูดอย่างดี
ผู้นั้นย่อมทำการสำเร็จมีชัยอย่างไพบูลย์
ข้อ 15.
ความรู้จักพอ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ข้อ 16.
นรชนผู้มีปัญญา อยู่ใกล้กับความทุกข์แล้ว ไม่พึงตัดความหวัง
เพราะนั่นคือหนทาง แห่งความเจ็บปวดและความตาย
โภคทรัพย์ทั้งหลายของสตรีหรือของบุรุษ หาสำเร็จได้ด้วยความคิดไม่
หากแต่สำเร็จได้ด้วยความเพียร
ข้อ 17.
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย (พุทธทาสภิกขุ)
ข้อ 18.
พึงใส่ใจแต่ส่วนดี
บุคคลใดมีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์
แต่มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์
ความประพฤติทางวาจาที่ไม่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด
ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในเวลานั้น
ส่วนความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด
ภิกษุก็พึงใส่ใจแต่ส่วนนั้นในเวลานั้น
เปรียบเสมือนสระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้
คนเดินทางมาถูกความร้อนกระทบ ร้อนอบอ้าว
เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาจึงลงสระน้ำนั้น
แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสอง
แล้วกอบน้ำขึ้นดื่มแล้วจึงจากไป
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
ข้อ 19.
ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่พร่ำเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส
ส่วนชนทั้งหลายผู้ยังอ่อนปัญญา เฝ้าแต่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมอง
เสมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนทิ้งขึ้นทิ้งไว้ในที่กลางแดด
ข้อ 20.
เพราะละความยึดมั่นถือมั่นได้ทั้งหมด ทุกข์จึงไม่เกิด
ข้อ 21.
ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธต่อเราผู้ไม่โกรธอยู่
ท่านมาทะเลาะกับเราผู้ไม่ทะเลาะอยู่ เราไม่รับคำด่าเป็นต้นของท่านนั้น พราหมณ์
ดังนั้นคำด่าเป็นต้นนั้น จึงเป็นของท่านผู้เดียว
ข้อ 22.
พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคำด่าว่า ด้วยการไม่ด่าว่า
พึงชนะคำตัดพ้อ ด้วยการไม่ตัดพ้อ
พึงชนะความไม่ดี ด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเท็จเหลวไหล ด้วยการพูดคำจริง
ข้อ 23.
โภคทรัพย์ย่อมทำลายคนโง่ แต่ทำลายคนที่ใฝ่แสวง “ ฝั่งโน้น ” ไม่ได้
เพราะโลภในโภคทรัพย์ คนโง่ย่อมทำลายคนอื่นและตนเอง
ข้อ 24.
คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
กินของอร่อยเพียงคนเดียว นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
ข้อ 25.
เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้
ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา
ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมถูกไฟไหม้ ฉันใด
โลกถูกชราและมรณะแล้ว ก็ฉันนั้น
ควรนำออกด้วยการให้ทาน เพราะทานที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว
ข้อ 26.
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
ข้อ 27.
แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี
ผู้นั้นก็มีความตายอยู่เบื้องหน้า
ความตายไม่ละเว้นใคร ๆ ย่อมย่ำยีสัตว์ทั้งหมดทีเดียว
ข้อ 28.
ผู้ที่มัวเพลินประมาทอยู่กับสิ่งที่ชอบใจ สิ่งที่รักและสิ่งที่เป็นสุข
จะถูกสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่รัก และความทุกข์เข้ามาครอบงำ
สิ่งที่ไม่น่ายินดี มักจะปลอบมาในรูปที่น่ายินดี
สิ่งที่ไม่น่ารัก มักจะมาในรูปแห่งสิ่งที่น่ารัก
ความทุกข์มักจะมาในรูปแห่งความสุข
เพราะดังนี้ คนจึงประมาทมัวเมากันนัก
ข้อ 29.
จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่า
ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที
ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา
ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี
ศิลปะ ในชีวิต ชนิดนี้
เป็นเคล็ดที่ ใครคิดได้ สบายเอย (พุทธทาสภิกขุ)
ข้อ 30.
สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว เหมือนผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย
ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อฆ่าต้นอ้อ
ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้า ฉะนั้น
ข้อ 31.
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์
ธรรมเหล่านี้ในหมู่มนุษย์ ล้วนไม่เที่ยง
ไม่มั่นคง มีความแปรผันเป็นธรรมดา
แต่ท่านผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้ธรรมเหล่านี้แล้ว
ย่อมพิจาณาเห็นว่า มีความแปรผันเป็นธรรมดา
อารมณ์ที่น่าปรารถนา จึงย่ำยีจิตของท่านไม่ได้
ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
ข้อ 32.
ความรักความอาลัยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์
เพราะฉะนั้นคนมีรักมากเท่าใด ก็มีทุกข์มากเท่านั้น
มีรักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ
มีรักร้อยมีทุกข์ร้อย
ความทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นตามปริมาณแห่งความรัก
เหมือนความร้อนที่เกิดแต่ไฟ ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มขึ้น
ข้อ 33.
บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า
เป็นฤกษ์ดี มลคลดี เช้าดี อรุณดี ขณะดี ยามดี
และเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้ว ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย
แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค
วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ปณิธานของเขาก็เป็นสิทธิโชค
ข้อ 34.
ถ้าภรรยาและสามี หวังที่จะได้พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
ทั้งคู่พึงมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน
พวกเขาย่อมจะได้พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
ข้อ 35.
มารดาบิดาเป็นพระพรหมของลูก เป็นเทวดาของลูก
เป็นครูคนแรกของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูก
ข้อ 36.
ผู้ลอยบาปได้เรียกว่าพราหมณ์
ผู้สงบระงับกิเลสได้เรียกว่าสมณะ
ผู้กำจัดความเศร้าหมองของตนได้เรียกว่าบรรพชิต
ข้อ 37.
ระลึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธการ ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ (พระศาสนโสภณ)
ข้อ 38.
กาลเวลาก็ล่วงไป คืนวันก็ผ่านไป ช่วงแห่งวัยก็ละไปตามลำดับ
เมื่อมองเห็นภัยในมรณะอยู่ฉะนี้ ควรละอามิสในโลกเสีย มุ่งสู่สันติเถิด
ข้อ 39.
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ข้อ 40.
คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเช้า พอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน
คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน
ควรรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะการผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย
ข้อ 41.
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน
แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด
ผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ
ในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น
ข้อ 42.
นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่
ข้อ 43.
สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวความตาย สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา
ชีวิตเป็นที่รักของทุกคน เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น นึกถึงเขา เอาตัวเราเข้าเทียบแล้ว
ไม่ควรเข่นฆ่า ไม่ควรให้สังหารกัน
ข้อ 44.
บุรุษผู้เป็นวิญญาณ เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้น
เด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า “ อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล ”
บทความที่เกี่ยวข้อง: