ศิลปะกับการพัฒนาสมองมนุษย์

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :317
นพ.อุดม เพชรสังหาร
ที่มา www.doctor.or.th

เรารู้กันมานานแล้วว่าศิลปะคือสิ่งจรรโลงจิตใจมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีจิตใจที่อ่อนโยน สงบ และไม่หยาบกระด้าง
เราใช้ศิลปะบางแขนงช่วยในการเยียวยาความเจ็บป่วยของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ
นี่คือคุณประโยชน์ของศิลปะที่เรารับรู้ แต่ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า แท้จริงศิลปะมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายกว่าที่เรารับรู้มากนัก


ไม่ นานมานี้เองนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง (neuroscientist) ได้ค้นพบว่าปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ฉลาด ก็คือ การที่เซลล์สมองมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรประสาท (neural circuit) ยิ่งเซลล์เหล่านี้ต่อเชื่อมกันเป็นวงจรและจัดระเบียบกันได้ดีมากเท่าใดก็จะ ทำให้ประสิทธิภาพของสมองมีมากขึ้นเท่านั้น นั่นก็คือทำให้มนุษย์ฉลาดมากขึ้นนั่นเอง คำถามที่นักวิทยาศาสตร์ถามต่อไปอีกก็คือ อะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้เซลล์สมองเหล่านี้มาเรียงเชื่อมต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์ คำตอบที่ได้ก็คือการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ของมนุษย์ การกระตุ้นและท้าทายความคิด การฝึกแก้ปัญหาและฝึกจินตนาการของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้น ถ้าเราอยากฉลาดเราก็ต้องหากิจกรรมอะไรก็ตามที่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่กล่าว มาข้างต้น

กิจกรรมศิลปะก่อให้เกิดอะไรขึ้นในสมองมนุษย์?
ถ้า จะตอบด้วยภาษาทางจิตวิทยาก็ต้องบอกว่า กิจกรรมศิลปะทำให้เกิดการพัฒนาจินตนาการของมนุษย์ ก่อให้เกิดความอ่อนโยนทางอารมณ์ เกิดสุนทรียภาพและความประทับใจ นอกจากนี้ ยังทำให้อวัยวะส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยสรุปแล้วเราก็ยังมองเห็นไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ในสมองมนุษย์ ตอบใหม่คราวนี้เราจะตอบโดยภาษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ก็ต้องบอกว่ากิจกรรมศิลปะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมองในส่วนที่ รับผิดชอบเกี่ยวกับจินตนาการ ความซาบซึ้งประทับใจ การเคลื่อนไหวประสานกันของมือไม้แขนขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) สมองส่วนกลาง (parietal lobe) สมองน้อย (cerebellum) หรือสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ (amygdala) นี่คือความชัดเจนของกิจกรรมศิลปะที่มีต่อสมองมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์ด้าน สมองได้นำมาให้เรารับรู้

เราจะใช้กิจกรรมศิลปะกับเด็กนักเรียนเพื่อช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้อย่างไร?
ก่อน อื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้กิจกรรมศิลปะในที่นี้ไม่ใช่การฝึกฝนให้ เด็กนักเรียนเป็นจิตรกรหรือปฏิมากรผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมีความรักและซาบซึ้งในศิลปะ อยากจะทำงานศิลปะไม่ว่าแขนงใดๆ ก็ตาม เพราะเราต้องการให้การทำกิจกรรมศิลปะนี้ไปกระตุ้นการสร้างวงจรหลายๆ วงจรในสมองของเด็ก ผลงานศิลปะจะออกมาดีหรือไม่ดีไม่ใช่ประเด็น เราต้องการสมองที่สมบูรณ์ ไม่ใช่งานศิลปะที่เลอเลิศ แต่อาจจะมีเด็กบางคนที่มีแววของความเป็นศิลปินผู้ ยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งครูต้องสังเกตให้ได้และช่วยสนับสนุนต่อไปเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้สัมผัสกับกิจกรรมศิลปะตั้งแต่แรกๆ เป็นการสร้างวงจรพื้นฐาน ทางศิลปะในสมองของเขา ซึ่งมันจะถูกต่อยอดในโอกาสข้างหน้าได้อย่างง่ายดาย

ประเด็นต่อมาก็ คือเราจะต้องไม่ตีกรอบให้เด็ก เด็กบางคนชอบวาดรูป บางคนชอบปั้นดิน ตัดกระดาษปะติดเป็นรูป เราต้องปล่อยตามอิสระในช่วงแรก เพราะนี่คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วงจรของสมองในส่วนของจินตนาการ เด็กอาจจะลองหรือทดสอบไปเรื่อยๆ หาประสบการณ์แต่ละอย่างตามความชอบ ทุกสิ่งที่เขาสัมผัสจะส่งผลให้เซลล์ในสมองของเขาก่อรูปเป็นวงจรเรื่องต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือวงจรแห่งจินตนาการ เพราะมันจะเป็นรากฐานอันสำคัญของอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตของเขาในอนาคต

อัล เบิร์ต ไอน์สไตน์ มนุษย์ที่ทุกคนยกย่องว่าฉลาดที่สุดต่อจาก เซอร์ไอแซก นิวตัน ได้กล่าววาจาอันเป็นอมตะไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ Imagination is more important than knowledge." เพราะฉะนั้น เราต้องเปิดโอกาสให้กิจกรรมศิลปะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยก่อรูปวงจรของ จินตนาการ ให้เกิดขึ้นในสมองของเด็กให้ได้ ศิลปะคืออีกภาษาหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาสากลที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปินออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้ เด็กบางคนอาจจะมีความยากลำบากในการสื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียน โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ กิจกรรมศิลปะจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อสื่อสารกับเด็ก เราจะสามารถรับรู้ความรู้สึกนึกคิด รู้ความต้องการและปัญหาของเขาได้ผ่านทางงานศิลปะ และที่สำคัญก็คือความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจินตนาการของมนุษย์ ออกมาเป็นงานศิลปะนั้น เราถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่สามารถจรรโลงโลกให้สวยงามน่าอยู่ น่าประทับใจได้ และงานศิลปะบางครั้งยังสามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลอีก ด้วย

ศิลปะ คือ เครื่องมือที่ทำให้ผู้สร้างงานศิลป์เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง การที่เด็กสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นจะดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย ไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาได้ทำมันขึ้นมาแล้ว งานชิ้นนี้ได้ผ่านการวางกรอบแนวคิด วางแผนในการผลิต และลงมือผลิตจนแล้วเสร็จ นี่คือคุณค่าของงานที่เราจะต้องให้การชื่นชมมากกว่าคุณภาพของผลงาน ผลแห่งการทำงานชิ้นดังกล่าวมันได้วางวงจรของการสร้างสรรค์งานศิลปะให้กับ เด็กแล้ว นี่คือสิ่งที่เราต้องการ นอกจากนี้ การชื่นชมเด็กจะทำให้วงจรสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการมองตนเอง การยอมรับนับถือตนเองและผู้อื่นมีความเข้มแข็งขึ้น

สังคมใดๆ ก็ตาม ล้วนต้องการคนที่มีจินตนาการ สร้างสรรค์ คนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจินตนาการของตนเองออกมาทั้ง ในรูปแบบคำพูดและสัญลักษณ์ทางศิลปะ ตลอดจนต้องการคนที่เคารพตนเองและผู้อื่นด้วยกันทั้งนั้น กิจกรรมศิลปะคือกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งจรรโลงจิตใจมนุษย์เท่านั้น หากแต่เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างคนที่มีความสามารถที่จะสร้างโลกใบนี้ให้ เป็นไปตามที่ใจปรารถนาเลยทีเดียว