การทูตแบบ"ทวิตเตอร์": นโยบายตปท.ที่จัดการได้ใน"140 ตัวอักษร"

โลกของนักการทูต เป็นโลกที่เต็มไปด้วยพิธีการและการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน แต่กระนั้นก็ยังพบว่าในปัจจุบัน นักการทูตและเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านต่างประเทศจำนวนมาก เริ่มหันมาใช้การทำงานแบบใหม่และเท่าทันโลกยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ"ทวิตเตอร์"




ในเช้าวันที่นายรัทโก มลาดิก ขึ้นศาลอาชญากรสงครามของยูเอ็น นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้ใช้ทวิตเตอร์เพื่อแสดงการกล่าวโจมตีทางการทูต โดยระบุถึงผู้นำซีเรีย "ผู้นำซีเรียควรสะท้อนภาพของการขึ้นศาลของนายมลาดิกวันนี้ ว่าความยุติธรรมมีจริง"

ขณะที่นายคาร์ล บิลดท์ รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ก็มีความคล่องแคล่วในการใช้สื่อทางการทูตใหม่ชนิดนี้เช่นกัน โดยในระหว่างที่รัฐบาลบาห์เรนใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วง เขาได้ใช้พื้นที่ในทวิตเตอร์ เพื่อกล่าวตำหนิรัฐบาลบาห์เรน "@khalidalkhalifa (นายคาลิด อัล คาลิฟา รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน)  ผมพยายามติดต่อกับคุณเพราะมีเรื่องอยากคุยด้วย"

ด้วยการถูกจำกัดตัวอักษรไว้ที่ 140 ตัว ดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทวิตเตอร์จะช่วยเยียวยาประเด็นความแตกต่างทางการเมือง  แต่ด้วยรูปแบบที่ทำให้การเขียนข้อความถูกทำให้สั้นและกระชับลง พร้อมด้วยแฮชแท็ก หรือป้ายกำกับข้อความ รวมถึงสัญลักษณ์แทน ก็สามารถทำให้ข้อความนั้นมีพลังขึ้นมาได้

รัฐบาลในหลายประเทศ เริ่มใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสาร ให้คำปรึกษา ประกาศนโยบาย ประกาศคำเตือน รวมถึงการเข้าถึงและสื่อสารกับประชาชนในวงกว้าง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบางประการ

แน่นอนว่าหน่วยงานที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้สื่อสมัยใหม่ก็คือกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะถึง 150 คน ที่ทำงานในหน่วยงานย่อยของกระทรวงกว่า 25 แห่ง  ทั้งในยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์  ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงรายอื่นๆได้รับการกระตุ้นให้เปิดช่องทางการสื่อสารของตนเอง




ในการฝึกอบรมครั้งล่าสุดที่สำนักงานใหญ่ในเขตฟ็อกกี้ บ็อตทอม ของกรุงวอชิงตัน ดีซี ห้องเรียนเต็มไปด้วยนักการทูตที่ต้องมาเรียนรู้เทคนิกการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยมีนักศึกษาฝึกงานที่มีอายุ 20 ต้นๆเป็นผู้ฝึกสอน คำแนะนำก็คือ"เดินหน้า อย่าท้อถอย" นับตั้งแต่นั้น ก็มีนักการทูตสหรัฐฯที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้วกว่า 900 คน และใช้สื่ออนไลน์ดังกล่าวในฐานะงานด้านการทูตประจำวัน

สื่อสังคมออนไลน์ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม  อีกทั้งยังเป็นช่องการเสนอความคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างดี และยังหมายถึงข่าวสารหรือข้อมูลที่ถูกเสนอออกไปอย่างผิดๆ ก็สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำสารานุกรมออนไลน์ในรูปแบบเดียวกับวิกิพีเดีย โดยใช้ชื่อว่า "ดิโพลพิเดีย" (Diplopedia) ซึ่งมีหัวข้อต่างๆมากกว่า 14,000 เรื่อง เพื่อกระตุ้นให้มีการสืบค้นข้อมูลออนไลน์  และยังมีการจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบเดียวกับเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อว่า "คอร์ริดอร์" (Corridor) ซึ่งมีสมาชิกแล้วกว่า 6,500 คน



 
นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังใช้รูปแบบของ "Crowdsourcing" ซึ่งก็คือการนำงานที่ปกติอาจจะทำโดยคนไม่กี่คนไปให้กับกลุ่มคนทำแทน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีการตั้งคำถามทางออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดมสมองหาทางลดค่าใช้จ่าย นักการทูตจากจีนรายหนึ่ง ซึ่งสงสัยว่า ไฟฟ้าของสถานทูตถูกประชาชนที่ใกล้เคียงต่อสายไฟขโมยไปใช้ ทำให้มีการติดตั้งมิเตอร์ นอกจากจะพบว่ามีการขโมยไปใช้จริงแล้ว แต่ยังพบว่าการไฟฟ้าคิดค่าไฟเกินจริง  ทำให้ช่วยประหยัดเงินไปได้หลายหมื่นดอลลาร์

เฟอร์กัส แฮนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตจากสถาบันเลวี นครซิดนีย์ กล่าวว่า สหรัฐฯมองว่าเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดอันหนึ่งในศตวรรษ  การต่อสู้ระหว่างสื่อเปิดและสื่อปิด มีความคล้ายคลึงกับการต่อสู้ระหว่างแนวคิดทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น

สหรัฐฯนอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์จีนแล้ว ยังแสดงการคัดค้านต่อแผนของออสเตรเลียในการใช้การกลั่นกรองเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ต  และไม่พอใจเมื่อนายกฯเดวิด คาเมรอน แสดงความเห็นว่าควรมีการปิดสื่อออนไลน์ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับเหตุจราจลในลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว

โดยนับตั้งแต่เขาจัดพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นสำคัญ ที่ว่าด้วยการทูตอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเดือนมีนาคม เขาได้รับการติดต่อจากหลายประเทศ  อาทิ จีน และรัสเซีย  ขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่างไอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์ ต่างกำลังพัฒนาศักยภาพของการทูตอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีราคาถูกและสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความห่างไกลในทางภูมิศาสตร์ได้




ด้านกระทรวงต่างประเทศและเครือจักรภพอังกฤษ การสื่อสารด้วยสื่อสมัยใหม่ เท่ากับเป็นการลบล้างภาพที่มักถูกคนภายนอกมองว่าอนุรักษ์นิยมและล้าสมัย

นายพอล แมดเดน ข้าหลวงใหญ่ของกระทรวงฯในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย เขียนในบล็อกส่วนตัว เขาเพิ่งเห็นสก็อตแลนด์ชนะรักบี้แมตช์แรกในแผ่นดินออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี  ขณะที่นายปีเตอร์ มิลเล็ตต์ ทูตประจำซีเรีย กล่าวในบล็อกส่วนตัวถึงสถานการณ์บริเวณพรมแดนซีเรียว่า เขาเห็นชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก หลังจากข้ามพรมแดนจากซีเรีย ตาของเขาเปิดกว้าง และบอกว่าเขาเห็นน้องสาวและลูกๆทั้ง 7 คนถูกสังหารโดยรัฐบาล

ด้านนายบ็อบ คาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียคนใหม่ มักใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 16,000 คน เพื่อแจ้งว่าเขารับประทานเมนูอะไรเป็นอาหารเย็น โดยล่าสุดเป็นเมนูเนื้อสันในจิงโจ้ วางโปะอยู่บนมะเขือเทศสดๆ  พร้อมทั้งขิง พืชสมุนไพร หัวเฟนเนล ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเมนูที่ยอดเยี่ยมที่สุด นอกจากนั้น นายคาร์ยังมักเขียนบทวิจารณ์หนังและหนังสือลงในบล็อกส่วนตัว

ส่วนนายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียคนก่อน มักใช้ทวิตเตอร์เพื่อเล่าถึงอาการแจสเปอร์ ของแมวของเขา  ขณะที่กระทรวงการค้าและต่างประเทศ ไม่สนใจในการใช้ช่องทางดังกล่าวมากนัก และมีการทวีตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าการทูตอิเล็คทรอนิกส์ ย่อมนำมามาซึ่งความยุ่งยาก เพราะแม้แต่ผู้ช่ำชองอย่างนายคาร์ล บิลดท์ รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ก็เคยมีปัญหาเช่นกัน โดยช่วงก่อนหน้าการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ในปีนี้ เขาได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นสารที่แสดงถึงความไม่รู้สึกรู้สาอะไร

"กำลังออกจากสต็อกโฮล์มไปดาวอส เพื่อร่วมทานอาหารค่ำกับโครงการอาหารโลก  เรื่องความหิวโหยถือเป็นประเด็นสำคัญ! #ดาวอส"  ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในทางลบจากผู้เล่นที่โต้ตอบโดยใช้แฮชแท็คว่า #ล้มเหลว

ขณะที่บางรายยังคงรักษาท่าทีและเก็บตัวเงียบ นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งกระทรวงของเธอถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่เคยทวีทเลยแม้แต่ครั้งเดียว