มติชนนออนไลน์.....ขณะที่แฟนๆของแอปเปิลกำลังเศร้าใจกับการสูญเสียสตีฟ จ็อบส์ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนทั่วโลก
แต่ในโลกแห่งธุรกิจ เขาได้รับการยกย่องให้เป็นซีอีโอผู้ยิ่งใหญ่ เขาใช้ความสามารถที่ยากที่ใครจะเลียนแบบได้ เพื่อในการทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่สอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตของผู้คน กระทั่งกลายเป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ ซึ่งน้อยคนนักในประวัติศาสตร์ที่จะมีความสามารถเฉกเช่นเดียวกับเขา
ในความจริงแล้ว จ็อบส์อาจเป็นคนที่ยากที่จะหาใครทัดเทียมได้ ที่สามารถนำการตลาดแบบหลักแหลมผสมผสานเข้ากับการบริหารที่ไร้ที่ติ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม หลายคนจึงเริ่มไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคตของแอปเปิลเมื่อขาดจ็อบส์
ปัญหาก็คือ แอปเปิลจะยังคงรักษาจิตวิญญาณแห่งสตีฟ จ็อบส์ โดยปราศจาก"สตีฟ จ็อบส์"ได้หรือไม่?
มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของบริษัทมือสมัครเล่นที่ไม่เพียงแต่เอาตัวรอด ด้วยฝีมือของผู้ก่อตั้งที่ทรงประสิทธิภาพในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ยังคงความรุ่งเรืองแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม "ฟอร์ด" คือตัวอย่างที่ดี แม้ว่า"เฮนรี ฟอร์ด"จะจากโลกนี้ไปนานแล้วก็ตาม "ดิสนีย์" ยังคงดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่า"วอล์ต ดิสนีย์" จะปรากฏแต่เพียงชื่อก็ตาม
เช่นเดียวกัน แอปเปิลก็จะต้องเดินต่อไป ด้วยการวางรากฐานที่ดีของเขา เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกระดับ แม้ไม่มีเสาหลักและตัวแทนในทุกสิ่งของแอปเปิลเช่นจ็อบส์
แต่คำถามที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจหลายคนก็คือ แอปเปิลจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้หรือไม่ หลังจากที่ขาดจ็อบส์ ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งเบื้องหน้าและแบ็คอัพเรื่อยมา ความสำเร็จของแอปเปิลเกิดจากการเดินนำหน้าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ แอปเปิลสามารถแก้ไขปัญหาที่ไม่มีใครคิดออกได้ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต และการสื่อสารของผู้คนโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับบริษัทอื่น ที่จะสามารถผลิตสินค้าที่ฮิตได้ หลังจากที่แอปเปิลทำให้ฮิตมาแล้ว และผู้นำบริษัทหลายคนก็ยังคงคิดปริศนาเช่นนี้ไม่ออก
แน่นอนว่า นี่จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับแอปเปิลเมื่อจ็อบส์จากไป และอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่า ทิม คุ๊ก ซีอีโอคนใหม่ของแอปเปิล ที่จ็อบส์ไว้วางใจที่สุด จะนำนาวาที่ชื่อ "แอปเปิล" ฝ่ามรสุมได้อย่างตลอดรอดฝั่งเช่นเดียวกับที่จ็อบส์เคยทำได้หรือไม่
อนาคตของแอปเปิลในปัจจุบัน ทำให้เราย้อนไปถึงบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่างโซนี่ โซนี่ เคยอยู่ในสถานะเช่นเดียวกับแอปเปิลมาก่อน ซึ่งก็คือบริษัทผู้ผลิตสินค้าผู้เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก ครั้งแล้วครั้งเล่า
ถ้าหากว่ายังจำได้ โซนี่เคยเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนบุคคลหลายประเภท นับตั้งแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ขนาดเล็ก โทรทัศน์ โซนี่ยังทำให้เครื่อง
เล่นเพลง"วอล์กแมน" กลายเป็นสิ่งที่ใครๆในยุคสมัยนั้นต่างต้องการครอบครองสักเครื่อง ซึ่งนั่นทำให้วิธีการฟังเพลงของคนทั้งโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เฉกเช่นเดียวกับไอพอดในยุคต่อมา โซนี่ เช่นเดียวกับแอปเปิล ต่างก็เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆลงในสินค้าของตนเองเสมอ ด้วยเทคโนโลยีที่คิดไกลกว่าบริษัทอื่นๆ และสุดท้าย เป็นแบรนด์ที่ยากที่ใครจะต่อกรได้
ถึงกระนั้น โซนี่ก็ยังคงเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เสมอ แม้ว่า "มะซะรุ อิบุกะ" และ"อะกิโอะ โมะริตะ" ผู้ก่อตั้งที่ทำให้โซนี่เติบโตมาได้กระทั่งวันนี้ จะไม่ได้กุมบังเหียนแล้วก็ตาม โซนี่ ยังคงผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงอยู่เสมอ ภายใต้แบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลก
"มะซะรุ อิบุกะ" และ"อะกิโอะ โมะริตะ" ผู้ก่อตั้งโซนี่
แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่า โซนี่คือบริษัทอิเล็คทรอนิกส์ที่ทรงอิทธพลที่สุดในโลกเช่นที่เคยเป็นมา หลังจากที่แอปเปิล เข้ามาแทนที่ และเปลี่ยนแปลงแนวคิดของโลกแห่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ขณะที่ซัมซุง ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้พยายามไล่ตามมาติดๆอย่างไม่ลดละ ด้วยการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไฮเทค และการจ้างบุคลากรระดับหัวกะทิ แต่ก็ไม่อาจลบชื่อของโซนี่ออกจากสังเวียนการแข่งขันได้
แอปเปิลจะประสบชะตากรรมเดียวกับโซนีหรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบอกได้ แต่เรื่องราวของโซนี อาจเป็นคำเตือนให้แก่แอปเปิลได้เป็นอย่างดี
จากการพูดคุยกับโยทาโระ โคบายาชิ ประธานบริษัทฟูจิ ซีร็อกซ์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของอะกิโอะ โมริตะ เขาเชื่อว่าโซนี่ยังคงอยู่รอดมาได้ก็เพราะ ผู้บริหารรุ่นใหม่ยังคงยึดถือจิตวิญญาณแบบ"อาคิโอะ โมริตะและอิบุกะ" เป็นต้นแบบในการทำงาน แต่โคบายาชิเชื่อว่านั่นคงเป็นสิ่งที่ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะ"โมริตะและอิบุกะ" จะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
เช่นเดียวกับที่แอปเปิล มี"สตีฟ จ็อบส์"เพียงหนึ่งเดียว
โคบายาชิกล่าวว่า โซนียังต้องเติบโตต่อไป เพื่อให้พ้นจากร่มเงาของผู้ก่อตั้งที่ทรงพลังมากที่สุดคนหนึ่ง และค้นหาอนาคตใหม่ด้วยตนเอง เพื่อยังคงรักษาความยิ่งใหญ่ แต่กระนั้น โซนี่ก็จะยังต้องหันกลับไปมองข้างหลัง เพื่อมองถึงข้อผิดพลาดของตนเองในอดีต มิใช่แค่ในอนาคตแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งน่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีให้กับแอปเปิลในการจัดการกับอนาคต