เพลงเพื่อเพศที่ 3 ยิ่งวันยิ่งโต!!

เคยแทรกอยู่ในสังคมแบบไม่เปิดเผยหากเดี๋ยวนี้การเป็น "เพศที่ 3" ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่เพียงแต่สังคมจะเริ่มยอมรับ จนคนที่เคยไม่ยอมต้องทำใจให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เพศที่ 3 ไม่ว่าจะเป็น "ผู้หญิงข้ามเพศ" หรือ "ผู้ชายข้ามเพศ" หลายคนยังกลายเป็นคนดัง เป็นขวัญใจของใครต่อใคร จนกลายเป็นใบเบิกทางให้มีการยอมรับเพศของพวกเขามากยิ่งขึ้น

เราจึงเห็นกะเทย ตุ๊ด เกย์ มากมายในละครทีวี

เห็นหนังสือที่ตั้งใจขายกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชายชอบชาย และหญิงรักหญิง

แต่แน่นอนประเภทหลังอาจจะมีน้อยกว่า

และล่าสุดที่เพิ่งมาแบบสดๆ ร้อนๆ คือ "เพลง"

อันที่จริง เพลงเพื่อเพศพิเศษเหล่านี้ก่อนหน้านั้นก็พอมีอยู่ประปราย และไม่แพร่หลายนัก-นี่พูดเฉพาะเพลงไทย เช่น "รักไม่มีกฎเกณฑ์" ของ "ดีเจเอกกี้-เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์" หรือ "น้ำตาสีม่วง" ของ "บอย เขมราฐ" แต่ในระยะเวลาใกล้ๆ ซึ่งเพิ่งผ่านไปได้ไม่นาน กลับเกิดปรากฏการณ์ "จ๊ะเอ๋" ของเพลง "นาที" โดย "ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์, "Secret Love" ของ "มิสเตอร์แซกแมน-โก้ เศกพล อุ่นสำราญ, "ไม่ได้ขอให้มารัก" ของ"เบลล์ นันทิตา ฆัมภิรานนท์" และ "ผัวข่อยเป็นเมียเขา" ของ "จินตหรา พูนลาภ"

โดยใน 4 เพลงนั้นมีอยู่ 2 เพลงที่ตั้งใจถ่ายทอด คือ "นาที" ที่ว่านบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากความรักของเพื่อนรุ่นพี่ ขณะที่ "โต จรัล-พิสิษฐ์ ฐิติธนพันธ์" โปรดิวเซอร์ของจินตหรา พูนลาภ ก็ได้แรงบันดาลใจจากข่าวมีผู้ชายมาแย่งตัว "เจ้าบ่าว" กลางงานแต่ง ขณะที่ "สุรักษ์ สุขเสวี" คนแต่งเพลง "Secret Love" บอกว่าไม่ได้เจตนา แต่ "เอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข" ผู้กำกับเอ็มวี เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องรักลับๆ ก็น่าจะนำเรื่องของคนที่แปลกแยกทางสังคมมาทำ ภาพของเพลงจึงออกมาเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับ "สุรัตน์ พงศ์พูลสุข" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการศิลปิน บริษัทโซนี่ มิวสิค ประเทศไทย บอกว่าอาจเพราะเพลง "ไม่ได้ขอให้มารัก" ถูกนำไปประกอบภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกัน ที่เป็นเรื่องราวของเพศที่สาม ทำให้ถูกตีความร่วมไปโดยปริยาย

หากไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่เจตนา ผลที่ตามมาของเพลงทั้ง 4 คือ ผลตอบรับที่เร็วและแรง แรงกว่าที่คนทำเองจะคาดคิดไว้ เพราะไปไหนมาไหนใครๆ ก็ชอบและชม

แต่ในแง่การตลาดแม้จะยังสรุปตัวเลขชัดเจนไม่ได้ แต่ถ้าใส่คำว่า "เพลงเกย์"เสิร์ชหาในกูเกิลจะพบว่ามีรายการค้นหาอยู่ถึงเกือบจะ 8 ล้าน 8 แสนรายการ บางรายการมีการถามหาว่า เพลงเกย์ที่น่าสนใจมีเพลงไหนบ้าง บางรายการก็ว่าเปิดร้านสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นเกย์และอยากหาเพลงที่เหมาะกับลูกค้าไปเปิดในร้าน ฯลฯ ซึ่งนั่นคงจะบอกถึงความต้องการได้บ้าง

สุรัตน์บอกว่าในความเห็นของเขา กลุ่มคนฟังที่เป็นเพศที่สามน่าจะมีจำนวนพอสมควร อีกทั้งยังมีการ "โตขึ้นมาก" ดังนั้นนอกจากจะนำเสนอเพลงประเภทนี้ออกมาแล้ว การดึงเอาเบลล์-นันทิตา ซึ่งเป็นเพศที่สามตัวจริงมาเป็นนักร้องจึงน่าจะสร้างกลุ่มแฟนคลับที่ยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะให้เบลล์-นันทิตา จับแฟนกลุ่มที่ว่านี้เพียงกลุ่มเดียว เพราะถ้าจะให้อยู่ได้ก็ต้องให้ชายจริง หญิงแท้ ฟังเพลงของเธอด้วยเช่นกัน

ส่วน "ศุภชัย นิลวรรณ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาร์สยาม จำกัด ต้นสังกัดของจินตหราบอกว่าเขาไม่คิดว่ากลุ่มคนซื้อซึ่งเป็นเพศที่สามจะมีจำนวนมากนัก ดังนั้นตอนทำจึงไม่ได้ตั้งใจจะตอบโจทย์เรื่องการขายเป็นหลัก เพียงแต่ต้องการมีเพลงที่หลากหลายนำเสนอ

หลากหลายในแง่ที่ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ชอบฟังเพลงอะไร อาร์สยามมีให้หมด

ล่าสุดจึงปล่อยเพลง "ผิดตั้งแต่เกิด" ที่เนื้อหาเป็นหญิงรักหญิง ของ "ติ๊ก ชนัญ-ชนัญชิดา จารุปภาเมธิน" นักร้องหญิงรักหญิงตัวจริงออกมา

"ดังนั้นถึงแม้จะไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนวงการเพลงกำลังมีการแผ้วถางทางเพื่อเจาะตลาดแฟนกลุ่มนี้อยู่เหมือนกัน!!"

เสียงจากคนฟัง

ถามเพื่อนพ้องที่เป็นชายรักชาย เขาว่าเท่าที่คุยๆ กันในกลุ่ม พวกเขาก็ไม่ได้ฟังเพลงที่แตกต่างไปจากผู้หญิงหรือผู้ชายทั่วๆ ไป เพียงแต่จะชอบเพลงที่เนื้อหาออกแนวให้กำลังใจเป็นพิเศษ อาจเพราะการเป็นเพศที่สามต้องพบเจอแรงกดดันต่างๆ มากมาย จึงต้องการเพลงที่ช่วยสร้างแรงใจ

และถ้าหากจะมีคนทำเพลงเพื่อกลุ่มของพวกเขาอย่างจริงๆ ก็คงจะดี

เพราะจะได้มีอะไรใหม่มาฟัง

แต่ฝั่งหญิงรักหญิงที่ได้คุยมากลับรู้สึกต่างออกไป เพราะบอกว่าไม่ได้ปลื้มอะไร ด้วยไม่อยากให้รู้สึกว่ามีการแบ่งแยกเพศ เพราะยิ่งแบ่งแยกก็จะยิ่งรู้สึกแย่

อย่างไรก็ตามถ้าทำออกมาแล้วไพเราะ ก็คงจะติดตามฟัง

"ฟังเหมือนเพลงอื่นๆ ทั่วไป"


ที่มา นสพ.มติชน