คติธรรมคำสอนของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )






เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ


ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้

อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิ้น

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1. จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2. จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3. พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน

ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติ ธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเราเพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่าชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่ง ร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้นจึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้งเพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ
ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่าร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็นจะขาดเสียไม่ได้ทั้ง ที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ ...ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกายเป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ

กรรมลิขิต

เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบัน กรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง


เรื่องกฎแห่งกรรมถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ

การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่าไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้นจึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา

ในการทำบุญสิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดีนี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญ และบาปแห่งหนึ่งอันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์

การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้นก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิ์เป็นขั้นที่นึ่งจะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือเมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้วการทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้นเป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี

การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขาท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มากและทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน

แผ่เมตตาจิต

ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่าอานิสงส์ การแผ่เมตตา

ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตาคือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไปเมื่อจิตของเรามี เจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้วก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม

คัดลอกจากหนังสือเรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี

อริสโตเติ้ล Aristotle


(Aristotle ก.ค.ศ. 384-322 จาก The Live of Philosophers โดย Diogenes Laertius)

อริสโตเติ้ล เป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon) เขาเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งจึงเป็นที่โปรดปาน อาริสโตเติ้ลได้รับการศึกษาจากอาจารย์ปลาโต้ ได้แสดงความสามารถเหนือศิษย์อื่นๆ เขาออกจากสำนักในขณะที่ปลาโต้ยังมีชีวิตอยู่ ปลาโต้ได้แสดงความรู้สึกไว้ดังนี้ "อาริสโตเติ้ลกระทำต่อข้าพเจ้า เหมือนไก่รุ่นกะทงขันสู้แม่ของมัน" แฮร์มิปเป (Hermippe) กล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติว่าชาวอาเทเน ได้ส่งอาริสโตเติ้ลไปเป็นทูตยังสำนักของกษัตริย์ฟิลิป ระหว่างนั้นเซโนคราแตส (Xenocrates) ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอาคาเดเมีย ซึ่งเป็นสำนักศึกษาของปลาโต้ ครั้นเมื่ออาริสโตเติ้ลกลับมา และเห็นว่ามีคนได้ตำแหน่งของตนไปแล้ว จึงหาที่สอนปรัชญาแห่งใหม่ และได้ที่ลีเคอูส (Lyceus)

เขาใช้วิธีเดินเที่ยวไปสอนไป เพราะเหตุนี้เองผู้คนจึงเรียกเขาว่าเป็นพวกจาริกชน (peripatetician) ภายหลังเขาได้มาที่มาเดด็อน รับราชการอยู่ในสำนักของพระเจ้าฟิลิป รับหน้าที่ถวายอักษรแก่ยุพราชอเล็กซันแดร์ สำหรับเป็นบำนาญตอบแทนเขาทูลพระเจ้าฟิลิป ให้ฟื้นฟูบ้านเกิดเมืองนอนของเขาขึ้นใหม่ พระเจ้าฟิลิปโปรดให้ตามคำขอ โดยให้อาริสโตเติ้ลร่างกฎหมายสำหรับเมืองสตากีรา ครั้นเห็นว่าได้ถวายอักษรให้การศึกษาแก่ยุพราชอเล็กซันแดร์ เพียงพอแล้ว เขาก็ขอกลับอาเทเนสอนปรัชญา 30 ปีต่อมา อาริสโตเติ้ล ถูกฟ้องฐานดูหมิ่นศาสนา จึงต้องหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่คัลคีแด็ส (Chalcides) อาริสโตเติ้ลดื่มยาพิษถึงแก่กรรมลง เมื่ออายุได้ 70 ปี

อริสโตเติ้ลได้ทิ้งคำคมไว้มากมาย ครั้งหนึ่งมีคนถามว่า โกหกปิดบังความจริงไว้แล้วได้อะไร เขาตอบว่า สิ่งที่ได้แน่นอนก็คือแม้พูดความจริงก็ไม่มีใครเชื่อ อีกครั้งหนึ่งมีคนตำหนิเขาที่ช่วยอันธพาล เขาตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ช่วยความประพฤติของเขา แต่ช่วยความเป็นคนของเขา เขากล่าวแก่ศิษย์และสหายเสมอว่า แสงสว่างที่ส่องวัตถุมาจากอากาศรอบๆตัวเรา แต่แสงสว่างที่ส่องจิตใจมาจากการศึกษาวิชาการ เขาวิจารณ์ชาวเอเทเน ที่ได้ค้นพบสองอย่างคือเนยแข็งและกฎหมายนั้น รู้จักใช้อย่างหนึ่งอย่างดีสำหรับการดำรงชีพ แต่ไม่รู้จักใช้อีกอย่างหนึ่งสำหรับความประพฤติ

อริสโตเติ้ลกล่าวว่า วิทยาการนั้นมีรากขมแต่มีผลหวาน บุญคุณเป็นสิ่งที่เก่าเร็ว ความหวังคือความฝันของคนอื่น วันหนึ่งมีคนบอกเขาว่า มีคนใส่ความเขาให้เสียชื่อเสียง เขากล่าวว่า ปล่อยความสบายเถิด จะตีด้วยก็ไม่ว่า ขอแต่อย่าให้ถึงตัวก็แล้วกัน

เขากล่าวถึงความงามว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องที่สุด แต่บางคนพูดว่าคำพูดนี้เป็นของ ดีโอเกแน็ส และอ้างว่าอาริสโตเติ้ลบอกว่าความงามเป็นพรสวรรค์ ในขณะที่โซคราแต็สกล่าวว่า ความงามเป็นทรราชชั่วคราว เทโอฟรัสตุส (Theophrastus) ว่าเป็นตัวลวงใบ้ เทโอครีแต็ส (Theocrites) ว่าเป็นความชั่วสวย คาร์เนอาแด็ส (Carneades) ว่าเป็นราชินีไร้องครักษ์

มีคนถามอริสโตเติ้ลว่า นักปราช์ญกับคนโง่ต่างกันอย่างไร เขาตอบว่าต่างกันเหมือนดั่งคนตายกับคนเป็น เขายังกล่าวไว้อีกว่า การรอบรู้เป็นเครื่องประดับในเวลารุ่งโรจน์ และเป็นเครื่องบรรเทาใจในเวลาที่ตกอับ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่รู้จักให้การศึกษาแก่ลูกตามสมควรย่อมได้รับคำชมเชย กว่าพ่อแม่ที่พอใจเพียงแต่ให้ชีวิตเกิดมาในโลก การศึกษาแทนที่จะเป็นการติดหนี้บุญคุณ กลับเป็นทางได้เปรียบ ให้ดำรงชีพอย่างสุขสบาย
มีชายคนหนึ่งอวดตัวว่าเป็นชาวเมืองใหญ่ เขากล่าวว่านั่นไม่สำคัญ สำคัญอยู่แต่ที่ว่าได้กระทำตนให้สมกับบ้านเมืองของตนหรือไม่ต่างหาก เคยมีคนถามว่าเพื่อนคืออะไร เขาตอบว่าคือสองร่างที่มีใจเดียว เขายังกล่าวอีกว่า บางคนตระหนี่เสียจนคิดว่าเขาจะอยู่ค้ำฟ้า บางคนสุรุ่ยสุร่ายเสียจนดูเหมือนจะคิดว่า เขาจะตายในวินาทีหน้า

อริสโตเติ้ลกล่าวว่า ปรัชญาช่วยให้ปฎิบัติตนด้วยความพอใจ ในเรื่องที่คนอื่นเขาปฎิบัติกันเพราะกลัวกฎหมาย ครั้งหนึ่งมีคนถามว่า ศิษย์ต้องพยายามก้าวหน้าอย่างไร เขาตอบว่าต้องพยายามก้าวหน้าไปให้ทันคนที่ล้ำหน้า และต้องไม่หยุดคอยคนที่ตามมาข้างหลัง ใครคนหนึ่งถามอีกว่า เราควรปฎิบัติต่อมิตรสหายอย่างไร เขาตอบว่าต้องปฎิบัติตามที่เราอยากให้มิตรสหายปฎิบัติต่อเรา ในหนังสือปรัชญาจริยะธรรมของเขากล่าวว่า สหายรัก เพื่อนแท้นั้นอย่าหวังว่าจะหาได้ง่าย



วิจารณ์ปลาโต้ (จาก Metaphysics)

ส่วนพวกที่ถือว่ามโนคติ (Ideas) เป็นสาเหตุนั้นเล่าเพราะอยากจะเข้าใจสาเหตุของภวันต์ (being) ที่อยู่รอบๆตัวเรา ก็เลยประดิษฐ์ภวันต์ขึ้นจำนวนเท่าๆกัน ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับนักคำนวน เห็นวัตถุที่ต้องคำนวนมีน้อยไป คำนวนไม่ออกก็เลยต้องเพิ่มขึ้นจนคำนวนออกมาได้ แน่อนนว่าจำนวนของมโนคติจะต้องเกือบเท่า หรือเกือบจะไม่น้อยกว่าจำนวนภวันต์ที่รับรู้สึกได้ ซึ่งนักปราชญ์เหล่านั้นอยากจะหาสาเหตุ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดจนบรรลุถึงเรื่องมโนคติ นั่นคือสิ่งแต่ละสิ่งที่มีอยู่จะต้องมีความจริงที่พ้องกันคู่กัน และโดยที่อยู่แยกกัน พวกหนึ่งเป็นสาร (substance) ซึ่งมีอยู่จริงในเอกภพ และอีกพวกหนึ่งเป็นสาระ (essence) ซึ่งถือว่าเป็นตัวการของเอกภาพในพหุภาพ ไม่ว่าจะเป็นพหุภาพ ของสิ่งที่สัมผัสได้หรือพหุภาพของสิ่งอันเป็นนิรันดร์

เหตุผลต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงพิสูจน์การมีอยู่ของมโนคตินั้น ไม่มีข้อใดเลยที่ยอมรับได้ ประเด็นสำคัญที่อาจจะยกขึ้นแย้งทฤษฎีดังกล่าวได้ก็คือ ตั้งปัญหาถามว่ามโนคติเหล่านี้สัมพันธ์กับภวันต์ ที่รับรู้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นภวันต์นิรันดร หรือภวันต์ทั่วไปที่รู้สึกเสื่อมสลาย อันที่จริงมโนคติเหล่านั้นหาได้เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใดไม่ มันไม่สามารถแม้แต่จะช่วยให้รู้เรื่องภวันต์อื่นๆ (อันที่จริงจะให้เป็นสารของสิ่งต่างๆก็ไม่ได้ เพราะถ้าเป็าสารต้องอยู่ภายใน) และแม้จะช่วยอธิบายความมีอยู่ก็ยังไม่ได้ เพราะมันอยู่นอกภวันต์ย่อยทั้งหลาย ถ้าหากอยู่ภายใน บางทีอาจจะยกให้เป็นสาเหตุก็ได้

เหมือนสีขาวเป็นสาเหตุของความขาวในสิ่งที่ขาว เพราะเข้าเป็นส่วนประกอบอยู่ในสิ่งนั้น แต่ข้อพิสูจน์นี้มีต้นตอมาจาก อานักซาโกรัส(Anaxagoras) และต่อมาก็มีเอ็วด๊อกซา (Eudoxa) และนักปราชย์อื่นๆอีกด้วย บางคนนำเอามาใช้ก็ดูเหมือนจะอ่อนเกินไป เพราะยังไม่มีข้อโต้แย้งอีกมากสำหรับทฤษฎีนี้และไม่มีใครสามารถตอบให้ กระจ่างได้

ยิ่งกว่านั้นวัตถุต่างๆ ไม่สามารถจะสืบเนื่องมาจากมโนคติดังกล่าว ไม่ว่าจะตีความหมายของคำว่า จาก (ek) ในความหมายใด ครั้นจะกล่าวว่ามโนคติเป็นแม่แบบ (paradigmata) และสิ่งอื้นๆมีส่วนในแบบ ก็ดูจะเป็นคำพูดที่ไร้ความหมายและเป็นการเปรียบเทียบแบบกวีมากกว่า ถ้าเช่นนั้นความคิดเรื่องมโนคตินี้มาได้อย่างไรกันเล่า ความจริงอาจเป็นไปได้ที่มีภวันต์หนึ่งอยู่แล้ว หรือเกิดมีขึ้นมาใหม่เหมือนกับภวันต์อีกภวันต์หนึ่ง เช่น โซคราแต็สจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม อาจจะมีอีกคนหนึ่งเหมือนโซคราแต็สขึ้นมา นี่เป็นเรื่องเห็นแจ้ง แม้จะสมมุติว่าโซคราแต็สมีอยู่นิรันดร อาจจะมีแม่แบบหลายแม่แบบของภวันต์เดียวกัน นั่นคือมีหลายมโนคติของภวันต์เดียวกัน เช่น คนคนหนึ่งจะต้องมีมโนคติของสัตว์สองขา และมโนคติของคนด้วยในเวาลาเดียวกัน นอกจากนั้นไม่ใช่เพียงแต่ภวันต์ที่รับรู้สึกได้เท่านั้น จะต้องมีแม่แบบ แม้แต่มโนคติเองก็ต้องการแม่แบบ เช่น ประเภทกว้าง(genus) ในฐานะที่เป็นประเภทกว้างก็ต้องเป็นแม่แบบประเภทเจาะจง (species) ที่บรรจุอยู่ในประเภทกว้างนั้น ความหมายก็คือสิ่งเดียวกันอาจจะต้องเป็นทั้งแม่แบบและลูกแบบ เป็นไปไม่ได้ที่สารจะอยู่แยกจากวัตถุของมัน ดังนั้นมโนคติถ้าหากเป็นสารของวัตถุ จะอยู่แยกกับสิ่งต่างๆ อย่างไรได้


กรรตุภาวะกับสมรรถนภาวะ (Act and Potentiality)

สมรรถนภาวะ ได้แก่ตัวการที่ทำให้เคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง อาจจะอยู่ในภวันต์อื่นหรือภวันต์เดียวกันนั่นเอง แต่อยู่ในฐานะคนละส่วน เช่น ความสามารถก่อสร้างเป็นสมรรถนภาวะที่ไม่อยู่ในอาคารที่ถูกสร้างขึ้น ส่วนความสามารถรักษาโรค อาจจะอยู่ในตัวคนที่ถูกรักษาก็ได้ แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้ถูกรักษา โดยทั่วไปสมรรถนภาวะจึงหมายถึงตัวการของความเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงในภวันต์อื่นหรือในภวันต์เดียวกัน แต่ในฐานะคนละส่วน ยังหมายถึงความเตรียมพร้อมที่จะถูกเปลี่ยนแปลง หรือถูกเคลื่อนไหวโดยภวันต์อื่น หรือโดยตัวเองในฐานะคนละส่วน

ตามหลักการดังกล่าวมานี้ ตัวรับการกระทำก็เรียกได้เหมือนกันว่ามีสมรรถนภาวะที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น บางทีเราก็กล่าวกันว่า ตัวรับการกระทำมีความสามารถรับการเปลี่ยนแปลงได้มุกชนิด จะรับได้ก็เฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตัวดีขึ้น

กรรตุภาวะคือการมีอยู่ของวัตถุ แต่ไม่ใช่ทำนองเดียวกับสมรรถนภาวะ เช่น เรากล่าวว่า แฮร์แม็ส(Hermes) อยู่ในสมรรถนภาวะของเนื้อไม้ และครึ่งบรรทัดอยู่ในสมรรถนภาวะของเต็มบรรทัด เพราะจากเต็มบรรทัดเราจะทอนเอาครึ่งบรรทัดออกมาเมื่อไรก็ได้ ผู้ที่มีความสารถคิดลึกๆ แม้ขณะยังไม่คิด เราก็เรียกได้แล้วว่าเป็นนักปราชญ์ในสมรรถนภาวะ

ภาวะตรงข้ามของตัวอย่างต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นภาวะในกรรตุภาวะ ความรู้เรื่องกรรตุภาวะที่เสนอมานี้ อาจรู้ได้โดยวิธีอุปนัยก็ได้ โดยหาตัวอย่างเฉพาะหน่วยมาแสดงให้ดู เราจะนิยามไปเสียทุกอย่างไม่ได้ มีบางเรื่องเราต้องพอใจเท่าที่รู้ได้ โดยการเปรียบเทียบกรรตุภาวะกับสมรรถนภาวะ จะเปรียบได้กับภวันต์ผู้กำลังสร้างบ้าน กับภวันต์ผู้ที่สามารถสร้างบ้าน ถวันต์ที่กำลังตื่นกับภวันต์ที่กำลังหลับ ภวันต์ที่กำลังเห็นกับภวันต์ที่กำลังปิดตา แต่ตายังดีอยู่ สิ่งที่ยังไม่อยู่ในสสารกับตัวสสาร สิ่งที่ตบแต่งแล้วกับสิ่งที่ยังไม่ได้ตบแต่ง
ตัวอย่างต่างๆที่ได้ยกมานี้ เทอมแรกเป็นกรรตุภาวะทั้งสิ้น ส่วนเทมอหลังเป็นสมรรถน แต่ทุกๆตัวอย่างมิไม่ได้อยู่ในกรรตุภาวะเหมือนกันทุกประการ แต่คล้ายกันโดยเปรียบเทียบ ในทำนองเดียวกับที่ว่าสิ่งหนึ่งอยู่ในสิ่งนั้น หรือสัมพันธ์กับสิ่งนั้น ส่วนอีกสิ่งหนึ่งก็อยู่ในสิ่งอื่นหรือสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เพราะว่ากรรตุภาวะบางทีก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวเมื่อเปรียบเทียบกับสมรรถนภาวะ บางทีก็ถือว่าเป็นสมรรถนภาวะที่จะมีรูปแบบในสสาร
กรรตุภาวะคืออะไรและเป็นชนิดใดนั้น อาจจะถือได้ว่าแจ่มแจ้งแล้ว จากการวิเคราะห์ตัวอย่างข้างต้นและตัวอย่างอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน คราวนี้จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า เมื่อไรจึงเรียกว่าภวันต์อยู่ในสมรรถนภาวะและเมื่อไรไม่อยู่ เพราะไม่ใช่ว่าจะอ้างอะไรก็ได้เสมอไป เช่นโลกเรานี้จะอ้างว่าเป็นคนในสมรรถนภาวะจะได้หรือไม่ จะต้องตอบว่าไม่ได้ อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นคนในสมรรถนภาวะ ก็ต่อเมื่อมีสภาพเป็นเชื้อสืบพันธุ์ แต่นั่นก็ยังไม่แน่นัก ทำนองเดียวกับเรื่องสุขภาพ ยารักษาโรคก็ดี หรือโชคก็ดี หาได้สามารถเยียวยาไข้ทุกรายไม่จำเพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติบำบัดโรคได้จริงเท่านั้น จึงเรียกได้ว่าสมรรถนภาวะให้สุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงจากสมรรถนภาวะมาสู่กรรตุภาวะ ในการสร้างงานศิลปะอาจจะนิยามได้ดังนี้คือ เป็นความปรารถนาของศิลปินที่เป็นจริงขึ้นมาโดยไม่มีอุปสรรค์ภายนอก หรือภายใน กล่าวคือ อุปสรรค์ที่มาจากตัวเขาเอง เหมือนในตัวอย่างการบำบัดไข้ ในทำนองเดียวกัน บ้านเรียกว่าอยู่ในสมรรถนภาวะแล้ว ถ้าหากไม่มีอุปสรรค์ใดเลยจากฝ่ายรับการกระทำ นั่นคือจากฝ่ายวัตถุที่ไม่ให้กลายเป็นบ้านขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากยังไม่มีอะไรเพิ่มเข้าไปหรือตัดออก หรือดัดแปลงด้วยประการใด บ้านนั้นก็จะเป็นบ้านในสมรรถนภาวะเรื่อยไป ภวันต์อื่นๆทั้งหลายที่ต้องพึ่งพาตัวการภายนอกมาแปรสภาพ ก็เป็นทำนองนี้ทั้งสิ้น

ส่วนภวันต์ธรรมชาติที่มีตัวการกรรตุภาวะในตัวเอง ย่อมจะเป็นสิ่งอื่นในสมรรถนภาวะได้โดยตัวเอง ถ้าหากไม่มีสิ่งภายนอกมาขัดขวาง ดังเช่นอสุจิยังไม่เป็นคนในสมรรถนภาวะ เพราะยังต้องอาศัยภวันต์อื่นรับไปทำการเปลี่ยนแปลงต่อไป จนกว่าจะมีตัวการในตัวเองที่แปรสภาพมาเป็นคนได้ จึงเรียกได้ว่าเป้นคนในสมรรถถนภาวะ ส่วนในตอนแรกนั้นยังต้องการตัวการอื่นอยู่ ในทำนองเดียวกัน โลกจะเรียกว่าเป็นประติมากรรมยังไม่ได้ เพราะยังต้องมีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะเป็นทองสัมฤทธิ์เสียก่อน

สรุปได้ว่า เมื่อเรากล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ในทำนองว่าเป็นอะไร แต่ในทำนองว่าทำจากอะไร เช่น ตู้ไม่ใช่เป็นไม้แต่ทำด้วยไม้ ไม้ไม่ใช่เป็นดิน แต่มาจากดิน และถ้าสืบสาวต่อไปก็จะเห็นว่าดินมาจากอะไรอีก ดูเหมือนจะพูดได้ในความหมายที่รัดกุมทีเดียวว่า สิ่งที่ใช้ทำหรือสิ่งที่เป็นต้นตอถัดขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ถัดลงมาในสมรรถนภาวะ เราไม่กล่าวว่าตู้เป็นดินหรือทำจากดิน แต่กล่าวว่าทำจากไม้ เพราะฉะนั้นไม้จึงเป็นตู้ในสมรรถนภาวะ และกล่าวต่อไปอีกได้ว่า ไม้ทั่วๆไปเป็นเนื้อสารของตู้ทั่วๆไป และไม้ชิ้นนี้เป็นเนื้อสารของตู้ใบนี้ คราวนี้ถ้าหากไล่เรียงไปจนถึงเนื้อสารสุดท้าย จนหาต่อไปไม่ได้ว่ามาจากสารใด เนื้อสารนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเนื้อสารแรก เช่น ถ้าดินมาจากลม และถ้าลมไม่ใช่ไฟแต่มาจากไฟ ไฟก็จะเป็นเนื้อสารแรก และไฟที่ว่านี้ก็ย่อมจะไม่ใช่สารที่มีคุณลักษณะตายตัว

บนเส้นทางธรรม ดุลยภาพกับวิถีสุขภาพแบบองค์รวม

'ทัศนะ' คือ วิธีคิด ความเชื่อ การให้คุณค่า หรือความหมายที่มนุษย์มีต่อสิ่งใดๆ และมนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมไปตามทัศนะของตนเอง ทัศนะ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งทัศนะต่อธรรมชาติ ทัศนะต่อชีวิต หรือทัศนะต่อสุขภาพ การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของมนุษย์ จึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนทัศนะเดิมของมนุษย์เป็นสำคัญ

สุขภาพ คือ…ดุลยภาพของชีวิต

ในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมา เราถูกครอบงำด้วยทัศนะที่เห็นว่ามนุษย์เป็นเครื่องจักร สามารถแยกแยะออกเป็นส่วนๆ จิตใจและร่างกายก็เป็นคนละส่วนกัน สุขภาพดีก็คือการปราศจากโรคแต่ให้ความสำคัญน้อยมากกับการศึกษาถึงระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยๆ ของชีวิต

ทัศนะเช่นนี้มีส่วนถูกตรงที่ ชีวิตมีการทำงานด้วยกลไกที่คล้ายเครื่องจักรกล แต่ ผิดอย่างมหันต์หากมองว่าชีวิตคือเครื่องจักรกล เพราะเพียงแค่ ข้อเท็จจริงที่ว่า เครื่องจักรกลถูกสร้างขึ้นมา ในขณะที่ชีวิตเติบโตขึ้นมา ก็เป็นข้อพิสูจน์ความแตกต่าง ระหว่างชีวิตกับเครื่องจักรกล ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

ถึงวันนี้ทัศนะแบบเดิมกำลังถูกโต้แย้งและเริ่มจะถูกบดบังด้วยทัศนะแบบองค์รวมซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดนิเวศวิทยา

ทัศนะนี้ เชื่อว่า ชีวิตคือ หน่วยของกระบวนการเชิงระบบที่มีองค์ประกอบย่อยๆ อยู่ภายใน ทั้งองค์ประกอบด้านร่างกาย ตั้งแต่ เซลล์ โมเลกุล และอวัยวะต่างๆ องค์ประกอบทางจิตใจ คือ ความรู้สึก ความคิด และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ดิน น้ำ อากาศ ทุกองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กัน มีหน้าที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน โดยที่ความสัมพันธ์นี้ดำเนินไปด้วยการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง และถูกควบคุมด้วยการจัดระเบียบตัวเอง ที่พอเหมาะพอดีเรียกว่า "ดุลยภาพของชีวิต"

นอกจากความสัมพันธ์ภายใน ของระบบชีวิตแล้ว แต่ละชีวิตยังอยู่ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบย่อยของระบบใหญ่ มีหน้าทีทำงานประสานสอดคล้องกับชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกทั้งยังมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์กับชีวิตอื่นหรือสิ่งแวดล้อมอื่นด้วย เช่นกัน การจัดระเบียบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบนี่ต่างหาก ที่ทัศนะแบบองค์รวมพยายามศึกษาค้นคว้า เพื่อรักษาระบบให้อยู่ในภาวะสมดุลตลอดไป

วันใดที่ระบบชีวิตขาดดุลยภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดปกติขององค์ประกอบส่วนใด ก็จะส่งผลต่อการทำงานของทั้งระบบ ระบบจะพยายามปรับเข้าสู่สภาวะสมดุล โดยการแสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วย เช่น อุณหภูมิสูงผิดปกติ หนาวสั่น การปวด บวม ฯลฯ หากร่างกายสามรถปรับให้คืนสู่สภาวะสมดุลได้ สุขภาพก็จะดำรงอยู่ต่อไป ในด้านจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตใจได้รับแรงกระทบ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เครียด หรือวิตกกังวล หากไม่สามารถควบคุม หรือปรับให้อยู่ในสภาวะปกติได้ จิตใจก็จะขาดความสมดุล เป็นเหตุให้เกิดอาการทางจิต หรือโรคจิตนั่นเอง

ตามแนวคิดแบบองค์รวมนี้สุขภาพ จึงมิได้หมายถึงการปราศจากโรค แต่หมายถึง สภาวะที่ระบบชีวิตสามารถรักษาสมดุลของระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ต่างๆไว้ได้ ทั้งองค์ประกอบด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภาวะสมดุลเช่นนี้คือ สุขภาวะ หรือการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด "สุขภาพแบบองค์รวม"

ทัศนะใหม่ สู่…วิถีใหม่

จะเห็นได้ว่า การรักษาสุขภาพตามทัศนะแบบองค์รวมนี้ มิได้คับแคบอยู่เพียงแค่การหาสาเหตุโดดๆ ของการเจ็บป่วย หรือโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ตัวอย่างของการดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทาง สุขภาพแบบองค์รวม คือ การดูแล รักษาสุขภาพตามแบบของชาวจีน

แนวคิดที่เป็นแกนกลางของทัศนะด้านสุขภาพของชาวจีนก็คือ เรื่องความสมดุล ชาวจีนเชื่อว่า ความเจ็บป่วยเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของระบบชีวิต อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคืนสู่ภาวะสมดุล การเข้าและออกจากจุดสมดุลจึงถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เป็นวัฏจักรของชีวิต การมีสุขภาพดีและการเสื่อมสุขภาพเป็นเรื่องธรรมชาติความเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับชีวิตที่ยังดำเนินอยู่ จุดมุ่งหมายของทั้งผู้ป่วยและหมอในการแพทย์จีนคือการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรวมของแต่ละบุคคลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้

ในทัศนะของชาวจีน แต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมแม้กระทั่งการดูแลฟื้นฟูสภาพยามเจ็บป่วยซึ่งถึงแม้หมอจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการ ดังกล่าว แต่ความรับผิดชอบสำคัญอยู่ที่ผู้ป่วย ถือเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่จะรักษาตนให้มีสุขภาพดี โดยการดำรงชีวิตตามกฎเกณฑ์ของสังคม และเอาใจใส่ร่างกายของตนเองอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งทางด้านสรีระ สิ่งแวดล้อมและ วัฒนธรรมของแต่ละบุคคล

ศาสนา…วิถีแห่งการรักษาดุลยภาพของชีวิต

หัวใจสำคัญของการรักษาดุลยภาพของชีวิต อยู่ที่การคำนึงถึงความสำคัญของชีวิตอื่น สิ่งแวดล้อมอื่นนอกจากตัวเอง ซึ่งก็คือการลด ละความเห็นแก่ตัวและทำความเข้าใจระบบของชีวิต อย่างถูกต้อง วิถีชีวิตที่ลด ละความเห็นแก่ตัวดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาให้ดี จะพบว่าในทุกศาสนามีหลักคำสอน หลักปฏิบัติ ที่นำไปสู่การลด ละความเห็นแก่ตัว ให้คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับทัศนะการดำรงชีวิตแนวนี้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งการดำเนินชีวิตด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

กล่าวเฉพาะพุทธศาสนา มีหลักคำสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยที่ศีลเป็นหลักปฏิบัติแห่งการครองตนด้านร่างกาย ในขณะที่ สมาธิและปัญญาจะช่วยพัฒนาจิตใจ ทำให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ เห็นคุณค่าของชีวิตอื่น สิ่งอื่น อันจะนำไปสู่ความสงบของระบบทั้งมวล สำหรับหลักปฏิบัติเรื่องสุขภาพ พุทธศาสนาถือว่า เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นปกติวิสัยของชีวิต เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกให้พ้นได้ สิ่งที่ควรทำคือ การดำรงชีวิตที่เรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ ดำรงตนให้อยู่ในความไม่ประมาท อีกทั้งมีปัญญาพิจารณาว่า ก่อเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร ยามเจ็บ ยามไข้ ก็ให้ดูแลรักษาตามสมควรแก่เหตุ มิใช่มุ่งหมายที่จะเอาชนะกฎธรรมชาติ

สำหรับคริสตศาสนาแล้ว หลักปฏิบัติที่เคร่งครัด คือเรื่องความเมตตา การให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ ในนามของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับที่ ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการให้ทาน การดูแลเพื่อนบ้าน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการละหมาดที่เชื่อว่าจะมีผลต่อสมาธิ และความสงบของจิตใจ

อาจกล่าวได้ว่าศาสนาทุกศาสนาแม้มีประวัติความเป็นมาไม่ เหมือนกัน แต่ทุกศาสนามีความมุ่งหมายที่ไม่ต่างกัน คือมุ่งที่จะรักษาความสมดุลหรือความสงบสุขของสรรพสิ่งในโลกโดยที่ศาสนาจะให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ มนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อม

ศาสนาจึงถือเป็นแบบแผนของการดำรงชีวิตที่เอื้อต่อการรักษา ดุลยภาพของชีวิตและระบบทั้งมวลอย่างแท้จริง

-----------------------------------------------------
http://www.moph.go.th/ops/doctor/drjan44/artical401.htm

ผู้หญิง ใช้สมองเยอะ ควรนอนนานกว่าชาย

ศาสตราจารย์จิม ฮอร์น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการนอนหลับ มหาวิทยาลัยลาฟเบอระ ในอังกฤษ กล่าวว่า ผู้หญิง จำเป็นต้องนอนหลับนานกว่าผู้ชายเฉลี่ย 20 นาที เนื่องจากผู้หญิงมีสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
 

หน้าที่อย่างหนึ่งของการนอนหลับ คือให้สมองฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองในช่วงหลับลึกสมองส่วนคอร์เท็กซ์ที่เกี่ยวกับความทรงจำและภาษา จะหยุดทำงานและเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูตลอดทั้งวัน ยิ่งใช้สมองมากเท่าไรยิ่งจำเป็นต้องพัก หรือนอนหลับมากเท่านั้น

ผู้หญิงมีสมองที่แตกต่างและซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย จึงทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ เช่น ขับรถไปด้วยคุยโทรศัพท์ไปด้วยและกินขนมไปด้วย ขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ทำได้ทีละอย่าง


ความต้องการนอนหลับที่แตกต่างกัน ยังช่วยอธิบายว่า ทำไมสมองผู้ชายแก่เร็วกว่าสมองผู้หญิง "สมองผู้หญิงอายุ 75 ปี เทียบเท่ากับสมองผู้ชายอายุ 70 ปี" ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่สมองผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการผ่อน คลายและซ่อมแซมนานกว่าการนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่6-8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม แต่ละบุคคลก็มีความจำเป็นแตกต่างกันแต่ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการนอนหลับที่เพียงพอซึ่งสังเกตจากหากนอนหลับเพียงพอแล้วจะไม่ง่วงนอนตอนกลางวัน

คำคม-น่าคิด


ขงจื้อ
- ถ้ามีคนสองคนเดินผ่านมาทุกเรื่องราวสามารถสอนข้าพเจ้าได้ สำหรับคนดีข้าพเจ้าจะเอาอย่างเขา สำหรับคนเลวข้าพเจ้าจะไม่เอาอย่างเขา



มหาตมะ คานธี
- จงเป็นคนที่ผลักดันให้โลกเปลี่ยน ในแบบที่คุณอยากเห็นมันเปลี่ยน




เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล
- ถ้าเรามัวทะเลาะด้วยเรื่องเมื่อวานนี้ เราจะสูญเสียวันพรุ่งนี้



ลีโอนาโด ดาวินชี

- ทำไมในยามฝัน เราจึงเห็นสิ่งต่างๆได้ชัดเจนยิ่งกว่าเมื่อนึกจินตนาการในยามตื่น




กาลิเลโอ กาลิเลอี
- ปรัชญาที่เขียนในหนังสือเล่มใหญ่ซึ่งวางอยู่เบื้องหน้าเราตลอดเวลา
ข้าพเจ้าหมายถึงจักรวาล ทว่า
เราไม่สามารถเข้าใจมันถ้าเราไม่เรียนภาษาเสียก่อนและจับความหมายของ
สัญลักษณ์ที่ใช้เขียน



ราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน (นักเขียนและนักปรัชญาชาวอเมริกัน)
- สิ่งที่สอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นวิธีการศึกษา



เบนจามิน แฟรงคลิน
- เมื่อคุณก้าวผิดพลาด คุณอาจตั้งตัวใหม่ได้ในไม่ช้า แต่ถ้าคุณกล่าววาจาผิดพลาด
คุณอาจต้องเสียใจไปตลอดชั่วชีวิต



อัลเบิร์ต ไอสไตน์
- ระหว่างผู้ที่มีความรู้มีการศึกษามากที่สุด กับผู้ที่มีความรู้มีการศึกษาน้อยที่สุด
มีความแตกต่างในระดับเล็กน้อยที่ไม่อาจเอ่ยอ้างถึงได้
เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆที่เรายังไม่รู้.

บทความที่เกี่ยวข้อง:

สุดทึ่ง เศรษฐีออสเตรียพบสัจธรรมเบื่อชีวิตร่ำรวย "ยิ่งมียิ่งทุกข์" ขายทุกอย่าง หันไปอยู่ในกระท่อมเล็ก


"เดลี่ เมล์"รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ตีแผ่ชีวิตของนาย"คาร์ล ราเบเดอร์"มหาเศรษฐีออสเตรีย ซึ่งได้ค้นพบสัจธรรมเบื่อชีวิตที่ร่ำรวย เพราะเห็นว่าคนเรายิ่งรวยก็ยิ่งไม่มีความสุข และได้หันมาขายทุกอย่างในชีวิต และเตรียมใช้ชีวิตอย่างสมถะในกระท่อมเล็ก ๆ โดยรายงานระบุว่า นายราเบเดอร์ ขณะนี้ได้เตรียมขายคฤหาสน์หรู 3,455 ตร.ฟุต ติดทะเลสาบ,ห้องซาวน่า และมุมวิวเหนือภูเขาแอลป์ เป็นมูลค่า 1.4 ล้านปอนด์ โดยก่อนหน้านี้ เขาได้เริ่มขายบ้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 17 เฮคเตอร์ ด้วยมูลค่า 613,000 ปอนด์ และที่ได้ขายไปแล้วก็คือ เครื่องร่อนจำนวน 6 ลำ มูลค่า 350,000 ปอนด์ รถยนต์หรูออดี้ มูลค่า 44,000 ปอนด์

นอกจากนี้ เขายังได้ขายธุรกิจขายเครื่องอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งภายใน ที่สรางความร่ำรวยให้แก่เขาด้วย ขณะที่รายได้ทั้งหมดของเขาจะยกให้มูลนิธีที่เขาตั้งขึ้นในลาตินอเมริกาและ อเมริกากลาง โดยเขาจะหันไปอาศัยยังกระท่อมไม้เล็ก ๆ แถบภูเขา หรือเตียงนอนธรรมดา ในเมืองอินน์บรัค

เศรษฐีออสเตรียรายนี้เปิดเผยว่า ความคิดของเขาตอนนี้ก็คือไม่ต้องทิ้งอะไรเหลือไว้เลยในชีวิต และเงินจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ความสุขเข้ามาในชีวิต และที่ผ่านมา เขารู้สึกว่า ตัวเองกำลังเป็นทาสแห่งการแสวงหาทางวัตถุที่เขาไม่ได้ต้องการหรือจำเป็นต้อง มี

นายราเบเดอร์บอกว่า จุดพลิกผันที่ทำให้เขาค้นพบสัจธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่เขาพักผ่อนลองวีค 3 สัปดาห์กับภรรยาที่เกาะฮาวาย เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถพบกับความสุขกับชีวิตระดับห้าดาว และแม้ว่าเขาและภรรยาจะใช้เงินไปเท่าไหร่ แต่กลับพบว่าทุกคนนั้นไร้ตัวตน ทั้งเจ้าหน้าที่โรงแรม หรือแขก ต่างเล่นบทบาทของตัวเองบนโลกแห่งวัตถุทั้งสิ้น และเมื่อเดินทางไปเที่ยวแอฟริกา เขาก็รู้ว่าว่า ความร่ำรวยของคนเรานั้นยืนอยู่บนความยากจนของคนอื่น และนั่นทำให้เขาตระหนักขึ้นมาทันว่า "ถ้าเขาคิดจะไม่ทำอะไรเสียตั้งแต่ตอนนี้ เขาก็จะสบายไม่ต้องทำอะไรอีกในชีวิตที่เหลือ"
Source: matichon.co.th

“เติ้งเสี่ยวผิง” สุดยอดนักปฏิรูป ผู้นำจีนสู่ความมั่งคั่ง


ผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ผู้มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัย
    
       เติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ.1904 – 1997 ) เป็นทั้งนักทฤษฎีมาร์กซิสม์ นักปฏิวัติ นักการเมือง นักการทหาร นักการทูต เป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นผู้ริเริ่มแนวทางเศรษฐกิจและการปกครองแบบฉบับเติ้งเสี่ยวผิง ที่ยังคุณูปการแก่ประเทศจีนจวบจนถึงปัจจุบัน และด้วยคุณงามความดีที่ท่านปฏิบัติสั่งสมมาตลอดชั่วชีวิต ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำที่อยู่ในใจชาวจีนตลอดมา

เติ้งเสี่ยวผิง เป็นชาวซื่อชวน (เสฉวน) มีภูมิลำเนาเดิมที่เมืองกว่างอัน เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1904 ชื่อเดิม เติ้งเซียนเซิ่ง เป็นบุตรชายคนโต มีพี่สาว 1 คน น้องชาย 3 คน และน้องสาว 2 คน หนูน้อยเติ้ง เริ่มเข้าเรียนหนังสือเมื่ออายุได้ 5 ขวบ เวลานั้นใช้ชื่อว่า เติ้งซีเสียน

       เมื่อจบชั้นประถมและมัธยมในเมืองกว่างอัน ในปี 1920 เติ้งซีเสียนวัย 16 ปี สอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาปี 1922 ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาติเยาวชนลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในยุโรป (ปัจจุบันคือสันนิบาติเยาวชนสังคมนิยมแห่งประเทศจีนในยุโรป) กลางปี 1924 ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ประเทศฝรั่งเศส เติ้ง เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยจนถึงอายุ 21 ปี ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่มอสโค เมืองหลวงอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อต้นปี 1926

       เติ้งซีเสียน เดินทางกลับมาตุภูมิในฤดูใบไม้ผลิปี 1927 เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งอยู่ในภาวะ ตึงเครียด เติ้งได้รับมอบหมายจากพรรคฯให้ไปซีอันและทำงานในสถาบันการทหารและการเมือง ซุนยัดเซน ที่นี่เติ้งได้เริ่มทำงานด้านการปฏิวัติเป็นครั้งแรกในจีน โดยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดตั้งขึ้นภายในสถาบัน

       เมื่อความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งสิ้นสุดลง เติ้งซีเสียน ในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เติ้งเสี่ยวผิง เพื่อปกปิดชื่อจริง ปลายปีได้ย้ายตามหน่วยงานของคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯไปเซี่ยงไฮ้ เติ้งเสี่ยวผิงวัย 23 ปีในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการใหญ่คณะกรรมาธิการกลางพรรคฯจนถึงปี 1929

       ฤดูร้อนปี 1929 เป็นตัวแทนของคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯ นำการปฏิวัติในมณฑลกว่างซี โดยใช้ชื่อว่าเติ้งปิน ฤดูร้อนปี 1931 ย้ายไปยังฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในมณฑลเจียงซี เป็นเลขาธิการพรรคฯประจำอำเภอรุ่ยจินและศูนย์ฮุ่ยชั่ง ต่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ ของมณฑลเจียงซี ต่อมาถูกพวกซ้ายจัดถอดถอนตำแหน่ง ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการใหญ่องค์การบริหารส่วนกลางในกองทัพแดง และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ‘หงซิง’ หรือดาวแดง ซึ่งเป็นของหนังสือพิมพ์ขององค์การบริหารส่วนกลาง

       เดือนตุลาคม 1934 ได้เข้าร่วมออกเดินทางหมื่นลี้ ปลายปีเดียวกัน ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯ เมื่อเหมาเจ๋อตงขึ้นเป็นผู้นำคณะรัฐบาลกลางอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 1935 เติ้งเสี่ยวผิงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ ของฝ่ายบริหารประจำกองทัพแดงที่ 1 รองหัวหน้าและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ตามลำดับ

       เมื่อสงครามต่อต้านญี่ปุ่นปะทุขึ้น รับหน้าที่เป็นรองหัวหน้าฝ่ายบริหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ 8 ต่อมาปี 1943 เป็นตัวแทนเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือ ปี 1945 ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 7 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลาง

       ระหว่างสงครามปลดปล่อยประชาชน เติ้งร่วมรบในสมรภูมิบนที่ราบจงหยวน ซึ่งได้แก่ พื้นที่ใต้เขตแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) มณฑลเหอหนัน ตะวันตกของมณฑลซันตง และภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและซันซี เป็นกรรมาธิการฝ่ายบริหารสนามรบที่ 2 เลขาธิการของรัฐบาลกลางเขตจงหยวนและหัวตง (ตะวันออก)

       ในช่วงสุดท้ายของสงคราม เป็นผู้บัญชาการในสมรภูมิรบทั้งเขตจงหยวน และหัวตง ( อาณาเขตทางภาคตะวันออกของประเทศ อาทิ มณฑลซันตง เจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย เป็นต้น) สามารถยึดฐานที่มั่นของก๊กมินตั๋งเป็นบริเวณกว้าง อาทิ หนันจิง (นานกิง) ศูนย์บัญชาการของก๊กมินตั๋ง เซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง อันฮุย เจียงซี เป็นต้น

       เดือนกันยายน 1949 ได้รับเลือกเป็นกรรมการรัฐบาลประชาชน เข้าร่วมในการพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หนึ่งเดือนต่อมา ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติ นำทัพบุกภาคใต้และภาคตะวันตก ตั้งแต่มณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) กุ้ยโจว จนถึงซื่อชวน (เสฉวน) และร่วมนำทัพในการรบปลดปล่อยทิเบต ระหว่างนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอันดับหนึ่งของกรรมาธิการกลางพรรคฯภาค ตะวันตกเฉียงใต้ รองประธานกรรมาธิการทหารภาคตะวันตกเฉียงใต้ กรรมาธิการทหารฝ่ายบริหารภาคตะวันตกเฉียงใต้

       เดือนกรกฎาคม 1952 ได้เข้ากลับเข้ามาทำงานที่ส่วนกลาง ดำรงตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาล อาทิ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมาธิการการคลัง ต่อมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ปี 1954 ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมาธิการฝ่ายป้องกันประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 8 ครั้งที่ 1 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการประจำฝ่ายบริหารคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ

       ปี 1959 เป็นกรรมการประจำคณะกรรมการกลางการทหารพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯเป็นเวลา 10 ปี มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาระบบสังคมนิยมตามแนวที่เหมาะสมกับประเทศ จีน ระหว่างปี 1956 – 1963 เดินทางไปเยือนมอสโคหลายครั้ง เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตในขณะนั้น โดยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในความเป็นอิสระด้านการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
 
       ปี 1966 การปฏิวัติวัฒนธรรมระเบิดขึ้น เติ้งเสี่ยวผิงประสบกับมรสุมทางการเมือง ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองทั้งหมด และได้รับคำสั่งให้ไปทำงานในโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ในมณฑลเจียงซี

       มีนาคม 1973 ได้กลับมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมษายน 1974 เป็นผู้แทนรัฐบาลจีนในการประชุมวิสามัญสมัยที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ มกราคม 1975 ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และหัวหน้าเสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชน

       เมื่อโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ป่วยหนัก เติ้งเสี่ยวผิงภายใต้การสนับสนุนของผู้นำเหมาเจ๋อตง รับหน้าที่ฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม กอปรกับความร่วมมือของประชาชน ทำให้ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่อมาก็ถูกแก๊ง 4 คน ใส่ร้ายป้ายสี จนต้องออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งในเดือนเมษายน ปี 1976 เป็นครั้งที่ 2

       ตุลาคม 1976 แก๊ง 4 คนถูกล้มล้างลง พร้อมกับการสิ้นสุดของปฏิวัติวัฒนธรรม เดือนกรกฎาคม 1977 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 เต็มคณะครั้งที่ 3 มีมติให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลอีกครั้ง สิงหาคม 1977 ในที่ประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 11 เติ้งเสี่ยวผิงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ เดือนมีนาคม 1978 ได้รับเลือกเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ท่านเสนอให้มีการทบทวนนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต และให้พรรคหันมามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก

       ธันวาคม 1978 ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 3 เป็นการเปิดศักราชใหม่ของประเทศ ทั้งในด้านการปฎิรูประบบเศรษฐกิจและการพัฒนาระบอบสังคมนิยมพิเศษหรือ สังคมนิยมประชาธิปไตยแบบจำเพาะของจีน ภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่สอง ซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ

       กลางปี 1981 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 6 ได้มีการทบทวนแนวคิดของเหมาเจ๋อตงตามหลักเหตุผล และมีมติให้คงไว้ซึ่งความสำคัญของอดีตผู้นำเหมาในทางประวัติศาสตร์ ในการประชุมครั้งนั้น เติ้งเสี่ยวผิงได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางการทหาร

       พฤศจิกายน 1989 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 13 เต็มคณะครั้งที่ 5 เติ้งเสี่ยวผิง ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และได้ส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศแก่เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำประเทศรุ่นที่ 3

       แม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดแล้วก็ตาม แต่เติ้งเสี่ยวผิง ก็ยังคงทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 1992 ได้เดินไปแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หลังจากจีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ ตามเมืองต่างๆทางใต้ เช่น อู๋ซาง จูไห่ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนในหลายๆด้าน ปี 1997 ที่ประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 15 ได้มีมติให้ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบจีนเป็น ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ ที่มีคุณค่าต่อพรรคฯและประเทศชาติ

       วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1997 เติ้งเสี่ยวผิงในวัย 93 ปี ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ในกรุงปักกิ่ง แม้ว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะไม่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรีเลย ตลอดชั่วชีวิตทางการเมืองของท่าน ทว่าภารกิจที่ท่านรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศนั้นยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าตำแหน่ง ทางการเมืองใดใด คุณูปการทั้งหลายที่ท่านได้กระทำไว้แก่ประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนแนวคิดในการพัฒนาประเทศที่ตกทอดมาสู่ผู้นำรุ่นหลังแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงได้ชื่อว่าเป็น นักปกครองผู้นำความมั่งคั่งมาสู่ชีวิตชาวจีนในวันนี้
#####
วิสัยทัศน์ผู้นำจีนรุ่นที่ 2 ยุคปลดปล่อยทางความคิด
teng2
เติ้งเสี่ยวผิงในวันครบรอบ 25 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 1984
       มวลชนชาวจีนในยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐ ระหว่างค.ศ.1921-1949 สามารถลุกขึ้นยืน และเกิดประเทศจีนใหม่ได้ ด้วยพลังขับเคลื่อนจากแนวคิดชี้นำของท่านประธานเหมา ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการครอบงำของมหาอำนาจตะวันตก และระบบศักดินา โดยมี ‘ทฤษฎีความคิดเหมาเจ๋อตง’ ซึ่งเน้นการต่อสู้ในการปฏิวัติประชาชาติ และนำความเป็นไทมาสู่ประชาชนจีน เป็นธงชัย

       เมื่อมาถึงยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 2 ประเทศจีนหลุดพ้นจากยุคของการต่อสู้ทางชนชั้น เข้าสู่ยุคของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย พยายามบุกเบิกแผ้วถางเพื่อการสร้างสรรค์สังคมนิยมลักษณะเฉพาะของจีน

       ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง
       เติ้งเสี่ยวผิงได้นำเสนอแนวคิด การปลดปล่อยทางความคิด และค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง ซึ่งกลายมาเป็น ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ ที่เน้น การทำลายกรอบทางความคิด มุ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติ จากสภาพที่เป็นจริง และพิสูจน์กันที่ ‘ผลของการกระทำ’ ได้ชักจูงให้ทุกฝ่ายเริ่มปฏิบัติจาก ‘ความเป็นจริง’ และยุติการถกเถียงที่ยึดถือแต่ ‘แนวทฤษฎี’

       สาระสำคัญของ ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ โดยสรุปคือ ปลดปล่อยความคิด ใช้การปฏิบัติเป็นเครื่องวัดความถูกต้องของสัจธรรม มองว่าสังคมจีนเป็นสังคมนิยมขั้นปฐม ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีภารกิจในการสร้างสรรค์สังคมนิยม คือการปลดปล่อยกำลังการผลิต รวมไปถึง การรวมเกาะฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ โดยใช้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’

       ปี 1997 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยที่ 15 ได้ยอมรับ ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ เป็นทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติของพรรค ที่บรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรค พรรคคอมมิวนิสต์ได้ถือเป็นภารกิจสำคัญของชาติ ในการเป็นแกนนำสร้างสรรค์สังคมนิยมที่ทันสมัย ตามแนวทางของเติ้ง นับเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ผลักดันแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ

       การพัฒนาเศรษฐกิจ
       เติ้งใคร่ครวญบทเรียนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่แล้วมา ที่ยึดการวางแผนจากส่วนกลางเป็น ‘แม่แบบ’ ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทางของอดีตสหภาพโซเวียต และได้เรียนรู้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนา เศรษฐกิจที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง

       นโยบายที่เด่นชัดที่สุดในยุคเติ้งเสี่ยวผิง ที่เป็นส่วนหนึ่งใน ‘ทฤษฎี เติ้งเสี่ยวผิง’ คงหนีไม่พ้น การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการปลดปล่อยกำลังการผลิต และ ‘เปิดประเทศ’ ดูดซับทรัพยากรการผลิตจากภายนอก ซึ่งเติ้งเชื่อว่า จะเป็นวิถีทางสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีนให้ทันสมัย ในเบื้องต้นแนวทางดังกล่าวนำมาซึ่งข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย ด้วยเห็นว่า ประเทศจีนที่ยึดถือระบบสังคมนิยมกำลังเดินเข้าสู่ปากทางของระบบทุนนิยม มากกว่า

       ประเทศจีนภายใต้ผู้นำร่างเล็ก มีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยกำหนดเป้าหมาย ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน ที่เริ่มต้นจาก ‘ขจัดความยากจน’ ไปจากสังคมจีน และค่อยๆพัฒนาไปสู่สังคม ‘พอมีพอกิน’ และ ‘กินดีอยู่ดี’โดยถ้วนหน้า จนกระทั่งเจริญขึ้นเป็น ‘สังคมที่รุ่งเรืองมั่งคั่ง’ ในที่สุด ที่เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์ 3 ก้าว’
       ก้าวที่หนึ่ง ตั้งเป้าในปี ค.ศ.1990 เศรษฐกิจจีนจะโตเป็น 2 เท่าของปี 1980 สังคมพ้นจากสภาพความยากจน ก้าวที่สอง ปีค.ศ.2000 เศรษฐกิจจีนจะโตเป็น 2 เท่าของปี 1990 ประชาชนกินดีอยู่ดีโดยพื้นฐาน และก้าวที่สาม เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 21 จีนจะเจริญรุ่งเรืองระดับโลก สังคมโดยรวมมีความมั่งคั่งร่ำรวยถ้วนหน้า

       นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นแนวทางหลักของประเทศแล้ว ผู้นำเติ้งยังเล็งเห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพลังการผลิตอันดับหนึ่ง ที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพผู้ใช้แรงงานด้วย

       ‘การปลดปล่อยทางความคิด’ ตามทฤษฎีของเติ้ง ช่วยเปิดกว้างแนวทางต่างๆที่เป็นไปได้ ในอันที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งบทพิสูจน์จากแนวคิดดังกล่าว ได้เกิดผลในทางปฏิบัติกับประเทศที่ยากจนในอดีต ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในปัจจุบัน แล้ว.

       สรุปความจาก : ‘ยุทธศาสตร์ 3 ก้าว หนทางสู่ความสำเร็จแบบจีน’ ‘อะเมซิ่งจูหรงจี’ และ ‘จากเจียงเจ๋อหมิน สู่หูจิ่นเทา’ โดย สันติ ตั้งรพีพาก

#####
‘เปิดประเทศ’ ก้าวย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ

teng3
เติ้งเสี่ยวผิงชูแนวคิดนโยบาย ”เปิดประเทศ” ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นหนทางของการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในขณะ นั้น

       26 สิงหาคม ค.ศ.1980 ที่ประชุมคณะกรรมการประจำ สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ผ่านระเบียบว่าด้วย ข้อกำหนดการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ประเทศสาธารณรัฐ ประชาชนจีน และเป็นผลพวงมาจากแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ที่ริเริ่มโดยผู้นำจีนรุ่นที่ 2 นายเติ้งเสี่ยวผิง

       ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีค.ศ.1978 หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน(1949)ดำเนินมาจนถึงจุดเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 3 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ‘เปิดประเทศ’ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดการเปิดประเทศ และปฏิรูปอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม ราวกับการมาเยือนของลมต้นฤดูใบไม้ผลิ

       การเปลี่ยนแนวทาง จากประเทศสังคมนิยมที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิด ‘ซ้าย’ ซึ่งจำกัดระบบเศรษฐกิจแบบยึดนโยบายของรัฐมายาวนาน มาเปิดกว้างให้กับแนวทางใหม่ที่อยู่คนละขั้ว ย่อมเกิดการปะทะทางความคิด และความหวาดระแวงนานาประการ จากกลุ่มผู้บริหารประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ‘เศรษฐกิจกลไกตลาด’ เป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยมกันแน่ ? คือหัวข้อถกเถียงสำคัญ

       ‘นักออกแบบใหญ่’ อย่างเติ้งเสี่ยวผิง กระตือรือร้นอย่างมากในการหาหนทางขจัดอุปสรรคแนวคิดจากระบบเก่าให้พ้นทาง เพื่อปลดปล่อยกำลังการผลิต ตามความคิดเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เขานำเสนอ
        มกราคม ค.ศ.1979 เติ้งเสี่ยวผิง ได้ฉวยโอกาสจากกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีจดหมายจากผู้ประกอบการโรงงานแห่งหนึ่งในฮ่องกง ยื่นเรื่องขอกลับมาตั้งโรงงานในกว่างโจว(กวางเจา) เติ้งเสี่ยวผิงจึงสั่งการอย่างเฉียบไวว่า ‘เรื่องนี้กว่างตงสามารถปล่อยให้ทางผู้ประกอบการจัดการได้เต็มที่’ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะหลังจากนั้น รัฐบาลกลางก็อนุมัติ ให้ฝ่ายคมนาคมของสำนักงานส่งเสริมการค้าฮ่องกง จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเสอโข่ว ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นทันที

       ด้านคณะกรรมการมณฑลกวางตุ้งก็เดินเครื่อง เสนอแผนส่งเสริมการเปิดสัมพันธ์ทางการค้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ต่อที่ประชุมคณะทำงานของรัฐบาลกลางในวันที่ 5 เมษายน ปีนั้น เลขาธิการที่หนึ่งแห่งมณฑลกวางตุ้ง(ในขณะนั้น) สีจ้งซวิน ได้เสนอต่อเติ้งเสี่ยวผิงในที่ประชุมว่า ขอให้ส่วนกลางอนุญาตให้ทางการมณฑลกวางตุ้ง เปิดเขตแปรรูปสินค้าส่งออกที่ เซินเจิ้น จูไห่ และซั่นโถว(ซัวเถา) เพื่อดึงดูดนักธุรกิจจากฮ่องกงและมาเก๊า เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในจีน

       ผู้นำเติ้งสนับสนุนอย่างมาก เขากล่าวว่า ส่วนกลางไม่มีงบประมาณในการสนับสนุน สามารถแนะนำได้แต่เพียงนโยบายเท่านั้น และได้อนุญาตให้ทางมณฑลกว่างตงไปดำเนินการเอง ทั้งยังกำชับให้หาหนทางจัดการก่อตั้งให้สำเร็จจงได้ และให้เรียกเขตดังกล่าวว่า ‘เขตพิเศษ’

       คำว่า ‘เขตพิเศษ’ ที่เติ้งเสนอขึ้นมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนทางการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ใช้เป็นแหล่งดึงดูดเงินทุน เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการต่างๆจากต่างประเทศ และยังเป็นเสมือนห้องทดลองของประเทศ ในการคลำหากฎเกณฑ์และสำรวจแนวทางการดำเนินธุรกิจในเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งคำว่า ‘เขตส่งออกพิเศษ’ ได้ถูกเปลี่ยนเป็น ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ในที่ประชุมคณะทำงานของมณฑลกว่างตงและฝูเจี้ยน(ฮกเกี๊ยน) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 1980

       ภายหลังจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการประจำ สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้ผ่าน ข้อกำหนดการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งมณฑลกว่างตง ทำให้การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จูไห่ และซัวเถาในมณฑลกว่างตง และเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา
       คำครหาต่อเซินเจิ้น

       ริมทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเปล่งรัศมีน่าจับตาขึ้นมาทันที หลังกำเนิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เขตแรกของประเทศ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงตระหนักว่า ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ได้ดำเนินการมาครบ 5 ปี ก็ได้เสนอโอกาสในการขยายขอบข่ายการเปิดเสรีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นจังหวะก้าวที่ส่งเสริมให้ ‘การเพาะเลี้ยงไข่มุกทั้งสี่’ คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

       ในฐานะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นทั้ง ‘ช่องหน้าต่าง’และ‘เขตทดลอง’ ของการเปิดประเทศ ในจำนวน ‘ไข่มุกทั้งสี่’ เมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองที่กล้าออกมานำหน้าเมืองอื่นๆ ด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยคำขวัญที่ว่า ‘เวลาคือเงิน ผลกำไรคือชีวิต’ อาคารห้างสรรพสินค้าเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ในเมืองเซินเจิ้น ได้ทำลายสถิติ ‘สร้างเสร็จ 1 ชั้น ภายใน 3 วัน’ จนเกิดเป็นคำสแลงว่า ‘อัตราความเร็วเซินเจิ้น’

       นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เมื่อมีการล้มล้างระบบการเข้าทำงานแบบ ‘หม้อข้าวเหล็ก’ อันสื่อถึง ตำแหน่งการงานที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนมาใช้รูปแบบการถือหุ้นเปิดบริษัท…. เมื่อถลำลึกเข้าสู่วงจรการเปิดประเทศ นานวันเข้าแรงทัดทานก็ยิ่งทวีกำลังมากขึ้น หลายคนเริ่มสงสัยว่า วิธีการของเซินเจิ้นนี้ ทำได้จริงหรือ ?

       มกราคม ค.ศ.1984 หลังรัฐบาลจีนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านไป 5 ปี เติ้งเสี่ยวผิง ได้เดินทางไปสำรวจในพื้นที่เป็นครั้งแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาที่มีต่อ เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น

       จุดหมายปลายทางแห่งแรกในการล่องใต้ของท่านผู้นำครั้งนี้คือ เซินเจิ้น เติ้งเสี่ยวผิงได้รับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และยังเดินทางไปสังเกตการณ์งานก่อสร้าง และเยี่ยมชมสถานการณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจู่ไห่ ซึ่งที่นี่ท่านถึงกับเอ่ยปากชมว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ดี หลังเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองแห่ง และได้กลับถึงเมืองกว่างโจว ท่านได้ใช้เวลาพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ จนมีความเห็นออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งท่านเขียนด้วยพู่กันจีนและมอบไว้เป็นรางวัลแก่เมืองเซินเจิ้น ความว่า

       ‘ความก้าวหน้าและประสบการณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นแนวทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง’
       บทสรุปของการเดินทางครั้งนี้ เป็นประจักษ์พยานชิ้นสำคัญของ‘ดอกผล’อันเกิดจากดำริของท่านเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของยุทธศาสตร์การเปิดประเทศ อีกทั้งยังช่วยลบคำครหาต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

       คำพูดของเติ้งหลังเดินทางกลับสู่กรุงปักกิ่ง ที่ว่า “ พวกเราตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ย่อมต้องมีหลักการที่ชัดเจน ซึ่งมิใช่การ ‘ควบคุม’ แต่เป็นการ ‘ปลดปล่อย’ ” แสดงถึงการขยายช่องทางความคิด ตามวิถีพัฒนาดังกล่าวให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น

       มีนาคม 1984 คณะกรรมการกลางพรรคฯและคณะรัฐมนตรีมีมติร่วมกัน อนุมัติ ‘เปิด’ เมืองท่าอุตสาหกรรมใหญ่ ริมทะเลฝั่งตะวันออก 14 เมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ต้าเหลียน ฯลฯ อย่างเป็นทางการ…

       เมษายน 1988 คณะกรรมการสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ อนุมัติ ‘เปิด’ มณฑลไห่หนัน(ไหหลำ) และกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนัน …เมษายน 1990 รัฐบาลจีนประกาศบุกเบิกและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเขตพู่ตงในนครเซี่ยงไฮ้ และอนุมัติก่อตั้งเขตพู่ตงใหม่อย่างเป็นทางการในอีก 2 เดือนต่อมา

       เขตเศรษฐกิจพิเศษเรียงแถวกันผุดขึ้น ตามหลักการเปิดกว้างและปลดปล่อยทางความคิดเพื่อหนทางไปสู่การเปิดประเทศ อย่างแท้จริง ได้นำนโยบายดังกล่าวเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง การเกิดเขตเศรษฐกิจในท้องที่หนึ่ง เสมือนได้เขตทดลองสาธิต ที่ทุกฝ่ายต้องศึกษาเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประสบการณ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยนำทางประเทศ ก่อนเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดอย่างเต็มตัวในอนาคต
open2
การเปลี่ยนชนบทให้เป็นเมือง คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศสู่สังคมกินดีอยู่ดี ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง
       ‘ร้อยปีไม่หวั่นไหว’

       เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 3- 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ส่งผลให้นโยบายเปิดประเทศ ที่ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90 ของศตวรรษที่แล้ว ต้องหยุดชะงักลง

       หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสงบ มีนาคม 1990 เติ้งถอยลงจากตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังคงมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ เขาทบทวนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเสนอให้ปัดฝุ่นนโยบายเปิดประเทศอีกครั้ง

       สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ขานรับแนวคิดดังกล่าวของผู้นำสูงสุด และตั้งหลักใหม่ด้วยการชูคำขวัญปลุกใจของเติ้งเสี่ยวผิง ให้ร่วมกันสนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ‘ร้อยปีไม่หวั่นไหว’ โดยยืนหยัดในนโยบายเปิดประเทศ และปฏิรูปอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานของเศรษฐกิจกลไกตลาดภายใต้ระบบการเมืองแบบสังคมนิยม
       มกราคม – กุมภาพันธ์ 1992 เติ้งเสี่ยวผิงในวัย 88 ปี เดินทางไปตรวจงานทางภาคใต้ และอีกครั้งที่ไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ และเซี่ยงไฮ้ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เขาจะปลุกกระแสการปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นเป็นบททดสอบที่ชัดเจน ผลสำเร็จของการพัฒนา ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ในแนวทางของระบบสังคมนิยม ได้ตอกย้ำว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถดำเนินเศรษฐกิจระบบกลไกตลาดได้ โดยมิได้เบี่ยงเบนไปสู่แนวทางทุนนิยม อย่างที่หลายคนกังวล

       …จากเมืองเล็กริมชายแดน ที่มีประชากรไม่ถึง 20,000 คน เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เซินเจิ้นได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองทันสมัย ที่เป็นแหล่งที่อยู่และทำกินของประชากรกว่าล้านคนในปัจจุบัน ถูกขนานนามจากสื่อต่างชาติว่าเป็น ‘เมืองชั่วข้ามคืน’ คือ ภาพย่อส่วนที่เต็มไปด้วยสีสันของความสำเร็จ จากอัจฉริยภาพในการผันแนวคิดทฤษฎี มาสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง ของผู้นำเติ้งเสี่ยวผิงในยุคนั้น
open
ชีวิตทันสมัยในวันนี้ ที่แลกมาด้วยความพยายามของผู้นำเติ้ง ในการฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการจากการชูนโยบาย ”เปิดประเทศ” ในยุคปี 80
#####
เติ้งเสี่ยวผิงกับการเจรจาปัญหาเกาะฮ่องกง

       ต้นทศวรรษที่ 80 ทั่วประเทศจีนไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ วิถีทางที่เป็นไปได้ในการรวมประเทศนอกเขตแผ่นดินใหญ่ อันมีเป้าหมายรวมถึง เกาะฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่แฝงนัยของความรู้สึกรักชาติของชายร่างเล็ก เติ้งเสี่ยวผิง

       กลางค.ศ.1982 เติ้งเสี่ยวผิง ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองในขณะนั้น เรียกประชุมตัวแทนจากทุกหน่วยงานในฮ่องกง ทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรม การศึกษา สื่อมวลชน กลุ่มสตรี แรงงาน และภาพยนตร์ เข้าร่วมหารือถึงแผนการคืนเอกราชของเกาะฮ่องกง ซึ่งมีกำหนดในปี 1997 การพบปะระหว่างตัวแทนจากแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงในครั้งนั้น เป็นการประชุมครั้งแรกเฉพาะการภายในประเทศเท่านั้น

       ในที่ประชุม เติ้งเสี่ยวผิงได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ ถึงประเด็นการบริหารงานภายในเกาะฮ่องกง ภายหลังการคืนเอกราช ซึ่งจะปล่อยให้บริหารกันเอง รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ พื้นฐานทางกฎหมาย ฯลฯ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพื่อเสถียรภาพของความมั่นคงภายใน และความมีเสรีภาพของศูนย์กลางเศรษฐกิจการเงิน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งมวล

       เกาะฮ่องกง อยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ปีค.ศ.1842 (สมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ.1644-1911) หลังจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น(ค.ศ.1840-1842) ตามสนธิสัญญานานกิง ที่ราชสำนักชิงทำกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (ผลของสงครามฝิ่น จีนยังสูญเสียเกาะเกาลูนให้แก่รัฐบาลอังกฤษในปี 1860 และสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ผู้ถือสัญชาติต่างประเทศ โดยชาวต่างชาติในจีนสามารถอยู่เหนือกฎหมายจีนมาจนถึงปี 1949 ด้วย)
hong1
“หญิงเหล็ก”แห่งอังกฤษ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เข้าพบนายเติ้งเสี่ยวผิง เจรจาปัญหาเกาะฮ่องกง ในปี 1982

       การเจรจาคืนเกาะฮ่องกงระหว่างจีนและอังกฤษเปิดฉากขึ้น เมื่อ ‘หญิงเหล็ก’ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายอังกฤษ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกันยายน 1982

       จางจวิ่นเซิง อดีตรองประธานและโฆษกแห่งสำนักข่าวซินหัว ประจำเกาะฮ่องกง ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก่อนและหลังการคืนเอกราชแก่ฮ่องกงในปีค.ศ.1997 ย้อนความทรงจำว่า ปัญหาการคืนเอกราชให้กับฮ่องกง เป็นเรื่องที่เติ้งเสี่ยวผิงใส่ใจมาตลอด เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้แทนคนแรกในการเจรจากับอังกฤษ

       ‘หญิงเหล็ก’ แห่งเกาะอังกฤษมาเยือนกรุงปักกิ่งด้วยความเชื่อมั่นและลำพอง ทันทีที่อังกฤษมีชัยเหนืออาร์เจนติน่าในสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอร์คแลนด์ (สงครามกินเวลายาวนาน มายุติในปี 1982 ปัจจุบันเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ใช้ชื่อหมู่เกาะMalvinas) โดยก่อนหน้าการเดินทางมาจีน นางมาร์กาเร็ตได้ศึกษาพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศจีนมาอย่างดี รวมถึงประวัติศาสตร์การสูญเสียเกาะฮ่องกง จากสนธิสัญญา 3 ฉบับ ซึ่งได้แก่ ‘สนธิสัญญานานกิง’ ซึ่งว่าด้วย ราชสำนักชิงยินยอมยกเกาะฮ่องกงให้แก่เกรตบริเทนอย่างเด็ดขาด ‘สนธิสัญญาปักกิ่ง’ ที่ว่าด้วยการยกเกาะจิ่วหลง(เกาลูน)แก่มหาอำนาจเกรตบริเทนอย่างเด็ดขาด และ‘ข้อตกลงพิเศษว่าด้วย การขยายอาณาเขตเกาะฮ่องกง’ เป็นสัญญาเช่า‘ดินแดนใหม่’ ซึ่งหมายถึงเกาะเกาลูนและหมู่เกาะโดยรอบอีกกว่า 200 เกาะเป็นเวลา 99 ปี สัญญาทั้งหมดทำกันในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งจีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งสามฉบับ
       และนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ก็ได้อ้างเนื้อหาในสัญญาดังกล่าว เปิดการเจรจาปัญหาฮ่องกงกับรัฐบาลจีนในเบื้องต้น และยืนยันใน ‘ความชอบธรรมทางกฎหมายของสัญญา’ แต่การตอบโต้ของนายเติ้งเสี่ยวผิงนั้น กลับเกินความคาดหมายของมหาอำนาจอังกฤษ

       เติ้งยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยว ในการประกาศเอกราชของเกาะฮ่องกงในปี 1997 โดยไม่สนใจในข้อเสนอของนางมาร์กาเร็ต และกล่าวอย่างเคร่งขรึมว่า อาจเกิดปัญหาภายใน หากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ทวงเอกราชเหนือเกาะฮ่องกงคืน และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนการบริหารงานในเกาะฮ่องกงอย่างสันติ ภายหลังได้รับเอกราช ซึ่งนั่นถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันหารือในอนาคต

       ถ้อยคำทางการทูตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพของนายเติ้งเสี่ยวผิง ทำให้นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ถึงกับเดินสะดุดล้มลงไปคุกเข่าอยู่ที่พื้น เมื่อปะหน้านักข่าวสาวชาวเนเธอร์แลนด์ ขณะลงจากบันไดของมหาศาลาประชาคม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังการเจรจาไม่ถึง 3 ชั่วโมง…
hong2
บรรยากาศในพิธีถ่ายโอนอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกง จากอังกฤษสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997

       หลังจากนั้นการเจรจาอีกหลายระลอกก็ดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่จีนเสนอแผน ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ใช้ในการบริหารงานภายในฮ่องกงหลังการคืนเกาะ การร่วมลงนามบันทึกช่วยจำในประเด็นต่างๆ และการคงรักษาระบบเศรษฐกิจ สังคม และกฏหมายของฮ่องกงต่อไป เป็นเวลา 50 ปี ตลอดจนการตั้งฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษ การตรากฎหมายใหม่บางฉบับ จนมาถึงการเลือกผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งขั้นตอนการเตรียมการต้อนรับเอกราชใหม่นี้ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี

       และก้าวย่างที่ถือเป็นชัยชนะของมวลชนชาวจีน คือวันที่ 19 ธันวาคม 1984 เมื่อนายเจ้าจื่อหยาง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามใน ‘แถลงการณ์ร่วมปัญหาฮ่องกง’ กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นวันเริ่มต้น ฟื้นฟูอธิปไตยแห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเหนือเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ …แถลงการณ์ที่เปิดหน้าใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ฮ่องกง…

       แม้ว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะจากไปอย่างสงบ ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินใหญ่ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 ไม่ถึง 5 เดือน โดยไม่มีโอกาสได้เห็นผลของความพยายามที่รอคอยมานานนับศตวรรษนั้นก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ชาวจีนทั้งประเทศก็ไม่เคยลืมว่า พวกเขาได้ฮ่องกงกลับคืนมาอย่างสันติเพราะใคร
#####
คมคิดเติ้งเสี่ยวผิง
       ชาวจีนต่างสรรเสริญเชิดชูเติ้งเสี่ยวผิงว่า เป็น ‘ผู้นำที่ประเสริฐยิ่ง’ โดยมีความเป็นอัจฉริยะบุรุษทั้งในฐานะ ‘นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสม์’ ‘นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่’ ‘นักปกครอง’ ‘นักการทหาร’ ‘นักการต่างประเทศ’ และ ‘สถาปนิกใหญ่ผู้ออกแบบความทันสมัยให้ชาติและปฏิรูประบบสังคมนิยมจีน’

       คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเติ้งเสี่ยวผิงที่อุทิศเพื่อแผ่นดินมังกรนั้น มีอยู่ 2 ด้านหลักๆ

       ประการแรก คือสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐ และแก้ไขก้าวย่างที่พลาดพลั้งจากการปฏิวัติวัฒนธรรม วิพากษ์แนวคิดและฐานะทางประวัติศาสตร์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตงอย่างเป็น วิทยาศาสตร์

       ประการที่สอง คือสร้างแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน(ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง) เป็นผู้ออกแบบนโยบายปฏิรูปที่นำพาประเทศสู่ความเป็นสังคมนิยมอันทันสมัย

       ภูมิความคิดของเติ้งเสี่ยวผิง รัฐบุรุษผู้มีชีวิตปฏิวัติโชกโชนตลอด 70 ปี จึงควรค่าแก่การเรียนรู้และเข้าใจ

       ***********************************************************
       “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”
sew1

       ประโยคยอดนิยมของท่านผู้นำเติ้งที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดีนี้ ท่านได้กล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1962 ซึ่งขณะนั้น จีนกำลังประสบกับปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และบรรดาผู้บริหารของประเทศต่างระดมความคิดเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น

       ทัศนะของเติ้งขณะนั้นคือ “ในการจะฟื้นคืนอุตสาหกรรมเกษตร มวลชนจำนวนมากเรียกร้องขอได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินของตนเอง และผลการสำรวจยังได้สนับสนุนแนวคิดนี้ ซึ่งในช่วงระยะก้าวผ่านของแต่ละยุคสมัย หากวิธีการใดเป็นผลดีแก่อุตสาหกรรมการเกษตร ก็ให้ใช้วิธีการนั้น กล่าว คือ ควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัว”

       ************************************************************
       “ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง ”

       ในบรรดาทฤษฎีด้านสังคมนิยมแบบฉบับจีนของเติ้งเสี่ยวผิง “การ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง” ถือเป็นแก่นแกนความคิดสูงสุด ที่สะท้อนทัศนะการพัฒนาและปรัชญาองค์รวมของเติ้ง

       การจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้น เติ้งมองว่า ต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน

       รัฐบุรุษเติ้งยังเห็นว่า เนื่องจากจีนปิดประเทศไปนาน บวกกับความบอบช้ำภายในจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังนั้น ยิ่งความคิดถูกปลดปล่อยจากพันธนาการต่างๆ มากเท่าไร การปฏิรูปประเทศก็จะยิ่งก้าวหน้ามากเท่านั้น การเพิ่มกำลังการผลิตของชาติ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง บนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ดังคำกล่าวของจีนที่ว่า ‘การปฏิบัติคือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะทดสอบสัจธรรม’
sew2
แนวคิด 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ที่เน้นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการป้องกันประเทศ

       ************************************************************
       “ เคารพความรู้ เคารพความสามารถของบุคคล ”
sew3

       เติ้งเสี่ยวผิงเสนอทัศนะว่า กุญแจดอกสำคัญที่จะพาประเทศจีน ก้าวสู่ความทันสมัยได้สำเร็จนั้น คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งอาศัยพัฒนาการด้านการศึกษาเป็นรากฐาน การพูดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความทันสมัยได้ จำเป็นจะต้องมีความรู้ ความสามารถ หากไม่มีความรู้ ความสามารถของคนก็ไม่เกิด

       ดังนั้น จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการศึกษา อีกทั้งต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ สร้างหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น พร้อมๆ กับส่งเสริมให้มีบุคลากรด้านนี้ด้วย

       นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญและเคารพความสามารถของคนทุกคน โดยไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ใช้กำลังกายหรือกำลังสมอง เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

       ************************************************************
       “ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน ”

       “ ข้าพเจ้าภูมิใจในฐานะชาวจีน ที่เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน และมีความรักอันลึกซึ้งให้กับมวลชนและมาตุภูมิ” เติ้งเสี่ยวผิง เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง <รวมรวบผลงานวรรณกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง> ซึ่งออกโดยสำนักพิมพ์ Pergamon ของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981

       นี่คือความในใจของวีรบุรุษผู้เติบโตภายใต้การกล่อมเกลาด้วยจิตวิญญาณแห่ง วัฒนธรรมจีน แสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตสำนึกรักชาติ

sew4

       เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและสภาวะความเป็นจริงแล้ว เติ้งเสี่ยวผิงจึงคิดหลักการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ มาใช้แก้ปัญหาการรวบรวมเกาะฮ่องกง อ้าวเหมิน(มาเก๊า) และไต้หวัน โดย 1 ประเทศที่ว่า คือความเป็นจีนเดียวโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษชาวจีนต้องสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อพิทักษ์ มาตุภูมิไว้ ส่วน 2 ระบบ คือความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างการปกครองด้วยระบบสังคมนิยมของแผ่นดินใหญ่ กับระบบทุนนิยมของฮ่องกง อ้าวเหมิน และไต้หวัน ที่ถึงแตกต่าง แต่ก็เป็นชาติเดียวกัน
 
       แม้ ณ วันนี้ เติ้งเสี่ยวผิงจะไม่มีโอกาสอยู่ดูความสำเร็จที่เกาะฮ่องกง และอ้าวเหมิน ได้กลับคือสู่แผ่นดินแม่ แต่ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านมีความหวังกับเรื่องนี้เสมอ ดังคำกล่าวกินใจของเติ้งที่ว่า

       “การบรรลุความเป็นจีนเดียว คือความปรารถนาของชนทั้งชาติ แม้ผ่านไป 100 ปียังไม่สำเร็จ จะใช้เวลา 1,000 ปีก็ไม่สายที่จะรวมกันเป็นหนึ่ง”

       ************************************************************

       คมคิดเติ้งเสี่ยวผิง ตกผลึกจากความเป็นนักปฏิวัติและนักปฏิรูปเกือบทั้งชีวิต ผ่านบททดสอบทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาติ แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ภูมิความคิดหลายอย่างยังก้องกังวาน น่าศึกษาและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน

ข้อมูล จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ 

ดอกเหมย


ดอกเหมยหรือดอกบ๊วย จัดเป็นยอดแห่งมวลดอกไม้ที่หอมรันจวนใจ จัดเป็นดอกไม้ชนิดเดียว
ที่สามารถบานสู้หิมะในฤดูหนาว มีเพื่อนคือสนและไผ่  เมื่อนำทั้ง 3 มารวมกันจะหมายถึง มิตรภาพและความยั่งยืน

*ส่วนความต่างคือ แม้ทั้ง 3 จะสามารถยืนหยัดได้ดีท่ามกลางหิมะ กระนั้นก็ยังคงมีเพียงหนึ่งเดียวคือดอกเหมย ที่สามารถให้กลิ่นหอมรันจวนใจ  อีกทั้งดอกเหมยยังถือเป็นสื่อของความรัก และเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและความแข็งแกร่งอีกด้วย

‘จุดสุดยอด’ สวรรค์ที่เทวดามิอาจเอื้อม

ตีพิมพ์ครั้งแรก : mars magazine > (ไร้) สารานุกรม > No.86


- กรุงเทพฯ คืนฝนพร่ำ ห้องมืดสลัว หล่อนจับจูงลำแขนท่อนที่สามของเขาแหวกม่านไหมสู่หอชั้นใน เพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์...สวรรค์ชั้นที่เจ็ด -

ข้อความนี้ โดยเฉพาะคำสุดท้าย คงทำให้เราๆ ท่านๆ นึกคิดจินตนาการปรุงแต่งเตลิดไปไหนต่อไหนด้วยอารมณ์รัญจวน

ขณะที่เทวดาบนสวรรค์ทำหน้างง “I don’t know.” เผลอๆ อาจคิดเป็นคำบอกใบ้ลายแทงสมบัติ เนื่องจากบนเทวะโลก สวรรค์สูงและสุขสุดๆ นั้นอยู่แค่ชั้นหก สุขล้ำเหนืออื่นนี้คืออะไร คงจินตนาการไปไม่ถึง

เพราะสวรรค์ชั้นเจ็ดนั้นอยู่บนดิน ไม่ใช่บนฟ้า ซึ่งธรรมชาติมีแจกจ่ายให้ขอทาน ชาวนา นายทุน คุณหญิง ยันรัฐมนตรีได้ลิ้มลองอย่างเท่าเทียม แน่นอนว่าทุกคนต่างชื่นชอบและติดใจ

ป.ล.เนื่องจากคอลัมน์นี้อยู่ใน size s เพื่อความเหมาะสมจึงเซ็นเซอร์ถ้อยคำวาบหวิว แต่ถ้าคุณอ่านแล้วเกิดอารมณ์... ช่วยไม่ได้ ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน



• จุดสุดยอด หรือ orgasm คือ สภาพของร่างกาย ณ จุดสิ้นสุดของวงจรปฏิสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์ เกิดขึ้นได้ทั้งชาย หญิง เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้

• เมื่อพิมพ์คำว่า orgasm ในกูเกิล orgasm.ดอทคอม คือชื่อเว็บไซต์ที่พบเป็นอันดับแรก แน่นอนมันคือเว็บโป๊
• เสียวและสุข คือนิยามสั้นๆ ทางความรู้สึกของผู้บรรลุจุดสุดยอด
• Oxytocin สารที่กระตุ้นการหลั่ง endorphin ที่จะทะลักจากร่างกายมากกว่าปกติถึง 5 เท่า คือต้นตอของความเสียวและสุขนั้น
• ในภาษาไทยมีหลายคำที่ใช้เรียก ‘จุดสุดยอด’ ซึ่งคุณสามารถพบได้ในข้อต่อๆ ไป
• ความรู้สึก ณ จุดสุดยอดของผู้ชายยาวนานประมาณ 3-10 วินาที

• เมื่ออายุมากขึ้น กาลเวลาจะช่วงชิงปริมาณน้ำอมฤตและความยาวนานของความรู้สึกให้หดสั้นลง แต่ความรู้สึก ณ วินาทีบรรลุยังคงเดิม

• ผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดได้ติดๆ กันหลายครั้งในช่วงเวลาสั้น ขณะที่ผู้ชายต้องการเวลาพักฟื้นในการจะถึงฝั่งฝันครั้งต่อๆ ไป

• มีคนเคยเปรียบไฟพิศวาสของผู้หญิงเหมือนเตาถ่าน เพราะทำให้ติดยากแต่คุโชนนาน ส่วนผู้ชายเหมือนเตาแก๊สที่จุดปุ๊บติดปั๊บแต่ดับเร็ว

• ว่ากันว่า WOMAN ON TOP คือท่าร่วมรักที่ทำให้ที่ผู้หญิงถึงฝั่งฝันได้เร็วที่สุด เพราะ G spot ซึ่งเป็นจุดที่ไวต่อการกระตุ้นทางเพศ จะได้รับการเสียดสีอยู่ตลอดเวลาตามจังหวะการโยกไหวที่เจ้าหล่อนเป็นผู้ควบ คุม

• เป็นที่รู้กันระหว่างเด็กนวดเกย์ว่า การเน้นคลึงบริเวณรูก้นและรอบๆ รูก้น สามารถทำให้งูของลูกค้าบางคนพ่นพิษออกมาได้

• จากบันทึกสถิติที่ค้นเจอ อิตาลี สเปน เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ถือเป็นประเทศที่ผู้คนถึงจุดสุดยอดสูงสุดในโลก คิดเป็น 66 %ของประชากรทั้งหมด

• ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ ไม่น้อยไม่มากไป ที่พอดีๆ 54% แต่เมื่อมองลึกเข้าไปดูเหมือนความสุขสมนั้นจะตกอยู่กับฝ่ายชายเสียมากกว่า เกือบ 80%

• ในขณะที่สาวไทยอีก 70% ต้องนั่งอารมณ์ค้างเพราะไม่เคย ‘เสร็จ’ ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ส่วนอีก 30% ที่สุขสม เจ้าหล่อนยอมรับว่าเรียบร้อยไปกับการตกเบ็ดมากกว่า

• สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไปไม่ถึงสวรรค์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ดูเหมือนอันดับต้นๆ จะเกิดจากการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และความไม่มีน้ำอดน้ำทนของฝ่ายชาย

• แต่ถ้าลองเพ่งมองด้วยสายตาของนักสังคมศาสตร์อาจพบมายาคติในสังคมที่เชื่อว่า ชายเหนือกว่าหญิง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ชายละเลยการฝึกหัดสร้างความสุขสมให้ฝ่ายหญิง ไม่เชื่อลองสังเกตหนังโป๊สิ ส่วนใหญ่มักปิดฉากรักด้วยอาการเสร็จสมของฝ่ายชายเสมอ ส่วนผู้หญิงน่ะหรือ ช่างมัน!

• อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์ผู้หญิงในหนังสือโป๊ไว้ว่า “หนังสือโป๊ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อผู้ชาย ยิ่งพลิกดูเนื้อหา ยิ่งพบว่าผู้หญิงในหนังสือโป๊มักไม่มีตัวตน ไม่มีความประสงค์, ความชอบ, รสนิยมของตนเองเลย” --- หล่อนล้วนเป็นฝ่ายถูกกระทำและตอบสนองความปรารถนาของผู้ชายทั้งสิ้น

• ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ชายที่ได้อ่านข้อความข้างบน ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการร่วมรักเสียใหม่ซะ!
• นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ คือสำนวนที่ใช้กับผู้ชายที่ไวต่อการถึงจุดสุดยอด ส่วนฝรั่งจะเรียกชายผู้อ่อนหัดพวกนี้ว่า QUICKIE

• เมื่อมีปัญหาเรื่องการร่วมรัก ควรเปิดอกคุยกันอย่างเปิดเผย เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะระแวงว่าผู้ชายอาจรักเธอน้อยลง หรือไม่ก็คิดว่านอกใจไปปฏิบัติภารกิจกับหญิงอื่น

• ระวัง! การไม่สามารถพาคู่รักไปเที่ยวดาวดึงส์ได้บ่อยๆ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจทำให้ชีวิตคู่ของคุณจบลงได้
• ‘ทิชชู่’ คืออุปกรณ์ทำความสะอาดยอดฮิตของท่านชาย หลังเสร็จสมอารมณ์หมาย
• ตำราทางเพศที่เก่าแก่ที่สุดเป็นของจีน ประมาณ 2,697-2,598 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคของจักรพรรดิหวงตี้หรือจักรพรรดิเหลือง

• “กายของนางร้อนและชื้นด้วยเหงื่อมากขึ้น มือและเท้าเริ่มอ่อนตัว” นี่คือถ้อยคำที่บอกถึงอาการบรรลุความสุขสมอย่างสมบูรณ์ของตำราทางเพศเล่มดังกล่าว

• ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่าการหลั่งน้ำรักแต่น้อยมีผลดีต่อสุขภาพและความยืนยาวของอายุ โดยหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้อย่างดีคือคำพูดของซัน ซู โม่ แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งจีนโบราณที่กล่าวว่า “หากท่านสามารถทำรักร้อยครั้งโดยไม่หลั่งน้ำ ท่านจักมีชีวิตยืนยาว”

• ‘กามสูตร’ เป็นตำราทางเพศเก่าแก่ของอินเดียที่มีชื่อเสียงและยังได้รับความนิยมอยู่ใน ปัจจุบัน

• กรุณาอย่าสับสนระหว่างคำว่ากามสูตร กับกาลามสูตร เพราะสองคำนี้มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง หากใครอยากรู้ว่ากาลามสูตรคืออะไรไปค้นเอาเองก็แล้วกัน (แต่ขอกระซิบสักนิดว่าสุดยอดเหมือนกัน)

• ‘ผูกนิพพานโลกีย์’ คือชื่อตำรากามสูตรสัญชาติไทย ซึ่งอภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ภาควิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบโดยบังเอิญระหว่างที่สำรวจและจัดทำบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณของวัดไผ่ ล้อม ในจังหวัดตราด

• วินัยสงฆ์บัญญัติให้พระไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้ด้วยวิธีการใดก็ตามที่ ประกอบด้วยเจตนา ยกเว้นเป็นการหลั่งออกมาเองโดยธรรมชาติ

• ประเด็นเรื่องจุดสุดยอด น่าจะถูกนำมาพูดคุยกับพระอย่างเปิดเผยและเป็นทางการครั้งแรก ในรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีท่าน ว.วชิรเมธี เป็นแขกรับเชิญ

• spiritual orgasm หรือสุขสุดยอดทางจิตวิญญาณ เป็นคำตอบของท่าน ว.วชิรเมธี ที่บอกว่าสุขนี้ยอดกว่าจุดสุดยอดทางเพศ แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ปัญญาสุข สมาธิสุข และนิพพานสุข ที่เป็นจุดสุดยอดของความสุขในพระพุทธศาสนา

• เชื่อไหม มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะไปถึงฝั่งฝันนี้ได้ เทวดา อินทร์ พรหม ไม่มีสิทธิ์!

จิตแพทย์ชี้สื่อรักเอสเอ็มเอส ทำโจ๋ไทยติดเซ็กซ์เร็ว

Pic_62622

หลังวัยรุ่นชาย-หญิงกว่า 50% ยอมรับสื่อที่มีเนื้อหาทางเพศ มีอิทธิพลต่ออารมณ์ โดยเชื่อว่าการใช้อุปกรณ์ไฮเทคช่วยให้พูดคุย และคบแฟนง่ายขึ้น...

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. พญ.ณัฏฐิณี ชินะจิตพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "รู้ใจวัยรุ่นไทยสื่อรักวาเลนไทน์ 2010" ว่า จากการสำรวจวัยรุ่นชายหญิง จำนวน 1,320 คน ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้น-มหาวิทยาลัย จาก 10 สถาบัน ระหว่างวันที่ 5-12 ม.ค. 2553 โดยสอบถามเรื่องสื่อที่ใช้ในวันวาเลนไทน์ พบว่า มีการส่งข้อความสั้น(SMS) 61.8% บอกตรงๆ 52.3% ไฮไฟว์ 42% โปรแกรมเอ็มเอสเอ็น 37.7% อีเมล์(e-Mail) 32% สังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค 15.1% จดหมาย ไปรษณีย์บัตร 9.6% เอ็มเอ็มเอส 8.8% บอกรักผ่านวิทยุ 3.9%

จิตแพทย์ เด็กฯ กล่าวต่อว่า พบว่ากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 1 ใน 6 ยอมรับว่าติดไอที หรือ 60.5% โดย ยอมให้ผู้ปกครองดูภาพจากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอทีต่างๆได้ 72.6% เพราะคิดว่าบริสุทธิ์ใจ ไม่ปิดบัง เมื่อถามถึงความเสี่ยงด้านความรัก และความสัมพันธ์ที่มาจากเครื่องมือสื่อสาร ต่างๆ พบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำให้เป็นแฟน หรือ คบกันได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสพูดคุย รักกันง่ายขึ้น นอกจากนี้ วัยรุ่น เชื่อว่าระบบไอทีทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ได้ส่วนการได้รับสื่อด้านเพศ เมื่อได้รับแล้ว 72.%5 วัยรุ่นชาย 19.1% วัยรุ่นหญิง 12.8% ดูแล้วส่งต่อ และวัยรุ่นชาย 55% วัยรุ่นหญิง 55.6% ดูแล้วลบทิ้ง นอกจากนี้พบว่า วัยรุ่นทั้งชายและหญิงกว่า 50% เห็นว่าการได้รับสื่อที่มีเนื้อหาทางเพศ มีอิทธิพลต่ออารมณ์ทางเพศ

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การที่เด็กและวัยรุ่นได้รับสื่อต่างๆ จำนวนมาก ในหลายช่องทางเหมือน ขณะนี้ หากเป็นสื่อที่มีความรุนแรง มีเนื้อหาด้านเพศ เมื่อเห็นบ่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดายอมรับได้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ และหากเด็กไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอก็จะนำสิ่งที่เห็นไปปฏิบัติตาม โดยครอบครัวต้องมีส่วนร่วมช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ และ แยกแยะได้ว่าเรื่องไหนควรทำไม่ควรทำ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเครื่องมือไอทีต่างๆ เป็นสื่อที่ขยายความรุนแรงในวัยรุ่นให้เห็นชัดขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันโดย เฉพาะครอบครัว โดยโครงการต่อจากนี้จะมีการทำกิจกรรมรณรงค์ “ฉลาดรักยกกำลังสาม” รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้ โดยเชื่อว่าอิทธิพลไอทีมีผลต่อเด็กอย่างมาก ทั้งเรื่องส่วนตัว การเรียน ครอบครัวและสังคม จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเพื่อใช้ป้องกันปัญหา ที่จะมีการใช้ดารา นักแสดง และบุคคลที่เป็นแบบอย่าง เช่น แพนเค้ก เขมนิจ จามิกร เวียร์ ศุกลวัฒน์ รศ.สุนีย์ สิทธุเดชะ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ฯลฯ มาช่วยรณรงค์สื่อรักสร้างสรรค์ โดยการส่งข้อความ SMS ให้เยาวชนด้วย

-ไทยรัฐ

ภาษิต คติธรรม คำกลอน คำสอนจีนโบราณ




คัมภีร์จีน
Chinese Scripture Ways
ภาษิต คติธรรม คำกลอน คำสอนจีนโบราณ


คติธรรม คำสอน ของจีนโบราณ หากนำไปประพฤติปฏิบัติ ย่อมทำให้บังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระศาสนา สืบไป
ยาสีฟันสมุนไพรพฤกษาเฮิร์บ
1. ทั่วปฐพีล้วนมีขุมทรัพย์ เพียงแต่รอผู้มีวาสนามาค้นหา
2. ปลูกต้นไม้บำรุงราก ปลูกฝังคุณธรรมต้องบำรุงจิตใจ
3. การเป็นคนต้องพยายามทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้แล้วแต่ฟ้าลิขิต
4. คุณธรรมความดีไม่ได้อยู่ที่ลิ้น แต่เก็บไว้ในใจ
5. คนมีคุณธรรมย่อมรุ่งเรือง คนถืออำนาจย่อมหายนะ
6. ใคร่ครวญต้องช้าๆ ลงมือทำต้องรวดเร็ว
7. ต้องเคารพนับถือตนเอง มิฉนั้นแล้วจะไม่มีผู้อื่นเคารพท่าน
8. เหนือภูเขายังมีภูเขา เหนือคนยังมีคน (เหนือฟ้ายังมีฟ้า)
9. คนมักตายเพราะทรัพย์เป็นเหตุ นกมักตายก็เพราะเหยื่อ
10. คนสูงศักดิ์สอนด้วยวาจา คนต่ำศักดิ์ใช้แส้สั่งสอน
11. บุตรที่ดีย่อมมาจากบิดามารดาประพฤติสั่งสอนดี
12. คนที่มีปัญญาเห็นแก่ตัว สู้คนโง่ทำเพื่อส่วนรวมไม่ได้
13. ควรยอมผิดใจกับสุภาพชน แต่อย่าผิดใจกับคนพาล
14. คนดีมักถูกรังแก ม้าดีจึงมักถูกควบขี่
15. การวางเฉยเป็นมารยาทที่ดี แต่มากนักมักเป็นคนลับลมคมใน
16. การไม่สามารถแยกดี-ชั่ว เป็นบุคคลน่าห่วงใยที่สุด
17. จงเคารพนบน้อมผู้อื่น แล้วผู้อื่นก็จะเคารพนบน้อมท่าน
18. โชควาสนาติดตามคนกล้า เคราะห์กรรมตามหลังคนขลาด
19. คบคนดีควรผ่อนปรน คบคนชั่วควรระวังกวดขัน
20. ผู้ให้ไม่หวังผล ผู้รับไม่ควรลืม
21. ผู้กระทำการใหญ่ ย่อมไม่ถือสาคำตำหนิเล็กๆ น้อยๆ
22. ระวังการใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ รูรั่วเล็กๆ อาจจมเรือใหญ่โตได้
23. โรคภัยเข้าทางปาก ภัยวิบัติก็ออกจากปาก
24. เทพเจ้าแห่งโชคลาภย่อมรักคนกล้าหาญ
25. ความขี้เกียจคือสุสานฝังคนทั้งเป็น
26. อาศัยโชคชะตาหรือจะสู้ความสามารถตนเองได้
27. รู้จักคนรู้จักหน้า แต่หารู้จิตใจไม่
28. ระยะทางพิสูจน์กำลังม้า กาลเวลาพิสูจน์จิตใจคน
29. อย่ารังแกคนยากจน อย่าหยิ่งยะโสในความมั่งมี
30. อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว การเห็นแกตนย่อมประสบภัยอันตราย
31. ยามมีอำนาจอย่าเหลิง ยามมีสุขก็อย่าหลงระเริง
32. ผู้รอบรู้มักถ่อมตัว ผู้โง่เขลามักหยิ่งยะโส
33. ความสามารถควรมีมาก แต่ปัญหาควรมีน้อย
34. บุรุษอัจฉริยะอยู่ที่ปาก อาชาดีอยู่ที่ฝีเท้า
35. คนซื่อสัตย์พูดคำใดถือเป็นสัญญาคำนั้น
36. หนทางนั้นเคี้ยวคด แต่เหตุผลนั้นเที่ยงธรรม
37. ของมีพิษห้ามกิน ของผิดกฎหมายห้ามทำ
38. บุคคลชอบระแวงสงสัย ไม่ควรประกอบธุรกิจร่วมกัน
39. การทำงานอย่าเอาแต่ทิฏฐิของตน ต้องเข้าใจเหตุผลของงาน
40. ปัญญาชนควรสนิทไว้ แต่หาใช่ว่าต้องตามเขาไปเสียทุกอย่าง
41. ดอกไม้งามมักไม่หอม ดอกไม้หอมมักไม่งาม
42. การดำรงชีวิตประจำวัน ใช้คำว่า ง่ายๆ ย่อมสบาย
43. ความรู้ทำให้รู้จักถ่อมตน ไร้ความรู้ทำให้จองหองอวดดี
44. ความโกรธทำให้ตนเองรับทุกข์ทรมาน
45. คนโง่เท่านั้นมักอวดตนเป็นคนฉลาด
46. สุภาพชนเหนือผู้อื่น อยู่ที่รู้จักนอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น
47. ใช้จ่ายสิ้นเปลืองนำมาซึ่งความขาดแคลนอดสู
48. ขอให้ทุกคนจงสดับ อย่าได้ไม่รู้จักประมาณตน
49. รายได้น้อย รายจ่ายมาก ยังให้ทุกข์ทั้งชีวิต
50. ความมัธยัสถ์เป็นหนทางแห่งความร่ำรวยที่ยิ่งใหญ่
51. ไม่มีสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จ หากมีความขยันอดทน
52. กิจกรรมทั้งมวล ความซื่อสัตย์สำคัญที่สุด
53. คุณความดีเว้นจากการทำบาป และไม่คิดทำบาปอีกด้วย
54. ภายใต้ฟ้าไม่มีสิ่งใดมาก สำหรับผู้มีใจพากเพียร
55. มารยาทดีงามต่อคนเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด
56. มูลรากของความชั่วร้าย มาจากความเกียจคร้าน
57. ความรีบร้อนมักนำความผิดพลาดมาให้เสมอ
58. ผู้มีความเพียรอย่างแรงกล้า เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
59. การกล่าววาจากระทบผู้อื่น เหมือนคมมีดกรีดหัวใจ
60. หญิงขี้เกียจกับเตียงที่อบอุ่นย่อมแยกจากกันยาก
61. เรื่องราวของครอบครัวไม่ควรแพร่งพรายออกนอกเรือน
62. คบหากันเพราะรูปโฉม ความงามร่วงโรย ความรักที่สลาย
63. เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการ ทั้งคู่ก็ย่อมไม่เกิดทะเลาะกัน
64. อยู่บ้านอาศัยพ่อ แต่งงานอาศัยสามี แก่เฒ่าอาศัยลูกหลาน
65. จงเอาความรักบุตรภรรยาไปมอบให้แก่บิดามารดา
66. ภรรยาเพื่อน อย่าได้รังแกล่วงเกิน
67. มารดาที่อบรมที่อบรมดีคนเดียวมีค่าเลิศเท่าครูร้อยคน
68. พันคนก็มีเรื่องทุกข์พันอย่าง แต่มีทุกข์ไม่เหมือนกันสักคน
69. ปัจจุบันละเลยเรื่องเล็กน้อย ภายหน้าเสียใจอย่างใหญ่หลวง
70. การพูดจาไม่รู้จักถ่อมตน ธุรกิจก็ยากที่จะประสบผล
71. คนที่ไม่มีรอยยิ้มแย้ม อย่าคิดเปิดทำกิจกรรมการค้า
72. คนต้องมีกิริยาสุภาพ ดุจดอกไม้ต้องมีกลิ่นหอม
73. ผู้ชอบทะเลาะวิวาท ย่อมมีมิตรน้อย
74. ถอยสักก้าว ทะเลดูกว้าง ท้องฟ้าสดใส
75. อาศัยผู้อื่นอย่าเอาแต่ใจตน ต้องเรียนรู้นิสัยผู้อื่นด้วย
76. ผู้ไร้สัจจะ ถึงจะมีความสามารถก็ไร้ประโยชน์
77. มูลเหตุแห่งความเสียทรัพย์มาจากความเร่งรีบเสมอ
78. เดินพลาดเพียงก้าวเดียว อาจทำให้งานใหญ่พังได้
79. ผู้ไม่คิดการณ์ไกล มักประสบความทุกข์ยากเมื่อจวนตัว
80. บุคคลเปิดช่องให้โทสะครอบงำ ยังความวิบัติให้แก่ครอบครัว
81. กตัญญูเป็นการแสดงออกของจิตใจ อันสูงและประเสริฐ
82. ครอบครัวจะรุ่งเรืองอยู่ 2 ประโยค ขยันกับประหยัด
83. ความอดทนหลีกเลี่ยงทุกข์ภัยที่ใหญ่หลวงได้
84. เมื่ออยากจะรู้ความในใจเขา ต้องฟังเขาพูด
85. การมุสาเป็นก้าวแรกเดินเข้าสู่ประตูคุก
86. ผู้สูญเสียความซื่อสัตย์ เหมือนสูญเสียแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
87. ความอวดดีจองหองเป็นการเริ่มต้นแห่งบาป
88. โกหกเพียงครั้งเดียว ถูกสงสัยตลอดกาล
89. ผิดพลาดเพียงก้าวเดียว เสียใจไปตลอดชีพ
90. อารมณ์โกรธเข้าประตูหน้า สติปัญญาก็โผออกประตูหลัง
91. ปุถุชนหาใช่นักปราชญ์บัณฑิตไม่ ใครบ้างจะไม่ทำผิดเลย
92. คนดีเกลียดชังความชั่ว เพราะรักในคุณธรรม
93. ความหวั่นกลัวเป็นอุปสรรคการสร้างคุณธรรมทั้งมวล
94. ยามรุ่งเรืองไม่ประมาท ยามตกยากต้องอดทน
95. อย่าอวดตนเก่งกว่าผู้อื่น โลกนี้ผู้ที่เก่งกว่าตนนั้นมีมากมาย
96. คนตายส่งกลิ่นเหม็นหนึ่งลี้ คนเป็นส่งกลิ่นเหม็นพันลี้
97. ผู้มีเมตตาธรรมย่อมไร้ทุกข์ ผู้มีปัญญาย่อมไม่ลุ่มหลง
98. ยามให้ไม่ควรคิด ยามรับควรตอบแทนคุณ
99. ความอดทนรวมกับความกล้าหาญ ย่อมบรรลุสุขแน่นอน
100.ความอดทนเป็นต้นไม้ให้รสแสนขม แต่การให้ผลนั้นหอมหวาน
101.ผู้ที่สามารถควบคุมความโกรธไว้ได้ เป็นผู้มีปัญญายอดเยี่ยม
102.ร่างกายสมบูรณ์ไม่ต้องใช้ยาบำรุง จิตใจดีงามไม่ต้องกินเจ
103.จิตที่ยึดมั่นในพุทธธรรม ไม่มีมารปีศาจมารบกวน
104. กุศลกรรมที่ไม่มีอะไรใหญ่เท่ากับการให้ อโหสิกรรม